ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ มิ.ย. ขยับขึ้นรอบ 3 เดือน ได้ท่องเที่ยวหนุน เงินเฟ้อลดลง
ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนมิ.ย. 2566 อยู่ที่ 94.1 ขยับขึ้นในรอบ 3 เดือน ด้วยปัจจัยหนุนภาคท่องเที่ยว เงินเฟ้อลด ขณะที่ยังจับตาปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก กดดันส่งออกชะลอตัว แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น การจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้งภัยแล้งเอลนีโญ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. 2566 อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 92.5 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวมยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนมาจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งภาคก่อสร้างขยายตัวโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และโครงการภาครัฐ นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาท และอัตราค่าระวางเรือที่ลดลงตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดดันกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงชะลอตัว เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอลงโดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น อาเซียนและยุโรป
นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกโดยเฉพาะสงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่มีเหตุปะทะกันและยังคงตรึงเครียด เป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันราคาพลังงานโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่คาดว่าน่าจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการเงินโลก
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับตัวลดลง จาก 104.3 ในเดือนพ.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก รวมถึงวิกฤตภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งคาดว่าจะลากยาวมากกว่า 3 ปี จะส่งผลกระทบภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
โดย ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐพิจารณา ประกอบด้วย
1. ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้างวด 3/2566 (เดือนก.ย. - ธ.ค. 2566) ลงมาอยู่ที่ 4.25 บาท/หน่วยเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการและบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
2. เสนอให้ภาครัฐปรับเพิ่มเที่ยวบินและการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถโปรโมทสินค้าไทยไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
3. เสนอให้ภาครัฐเตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญรวมถึงมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเพียงพอต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม
4. ขอให้ภาครัฐดูแลและบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง