เบรกแนวคิด 'รัฐบาลรักษาการ' 10 เดือน ‘สำนักงบฯ’ ห่วงกระทบเบิกจ่ายงบลงทุน
สำนักงบฯติงข้อเสนอพรรคดการเมืองให้รัฐบาลรักษาการ 10 เดือน กระทบเศรษฐกิจ และการจัดทำงบประมาณปี 67 หลังสำนักงบฯทำแผนใช้งบไปพลางก่อนไว้เพียง 6 เดือนถึงไตรมาส 1 ปีหน้าเท่านั้น ชี้หวั่นกระทบงบลงทุนฯ และงบค่าเช่ารายการใหม่ คาดกระทบเบิกจ่ายงบลงทุนหลายแสนล้านบาท
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำานวยการสํานักงบประมาณ กล่าวถึงกรณีข้อเสนอของนายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ที่เสนอให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เลื่อนออกไปประมาณ 10 เดือน เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หมดวาระลง และไม่สามารถร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีได้ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นข้อเสนอของพรรคการเมือง แต่เท่าที่จำได้สถานการณ์ที่มีรัฐบาลรักษาการนานขนาดนั้นยังไม่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยมาก่อน ซึ่งหากยาวนานออกไปถึง 10 เดือนก็ต้องดูว่าจะเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างไรบ้างเพราะการใช้งบประมาณแบบพลางไปก่อนก็มีข้อจำกัดในการเบิกจ่ายอยู่พอสมควร
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ ได้เตรียมพร้อมสำหรับรองรับการจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่คาดว่าจะล่าช้าออกไปประมาณ 6 เดือน จากเดิมที่จะประกาศใช้ไในวันที่ 1 ต.ค.2566 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของปีงบประมาณใหม่ โดยจะต้องเตรียมประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ไปพลางก่อน เป็นระยะเวลา 6 เดือนคือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 - 31 มี.ค.2567 อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ามากรวมทั้งมีการนำเอาข้อเสนอรัฐบาลรักษาการ 10 เดือนมาใช้จริง ก็ต้องมีการขยายระยะเวลาของการใช้งบประมาณไปพลางก่อนออกไปอีกหลายเดือนโดยในช่วงเดือน ม.ค.2567 หากยังไม่ได้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 สำนักงบประมาณก็จะเสนอรัฐบาลรักษาการเพื่อขอขยายกรอบระยะเวลาในการใช้งบประมาณพลางไปก่อนออกไปตามกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม
นายเฉลิมพล กล่าวต่อว่า การใช้งบประมาณไปพลางก่อนก็จะกระทบกับการเบิกจ่ายงบประมาณ และกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย เนื่องจากการตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 กำหนดว่าการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายแบบพลางไปก่อนให้จัดสรรได้เฉพาะงบประมาณประจำในส่วนที่เป็นเงินเดือนข้าราชการซึ่งจากงบประมาณรายจ่ายปี 2566 ที่มีกรอบงบประมาณอยู่ 3.185 ล้านล้านบาทคิดเป็นเม็ดเงินที่จะเบิกจ่ายในส่วนนี้ได้ประมาณ 1 ล้านล้านบาทเศษ ส่วนรายการที่เป็นงบประมาณในการลงทุนและผูกพันไว้ต่อเนื่องซึ่งในส่วนนี้คิดเป็นวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทเศษจากงบลงทุนทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 6 – 7 แสนล้านบาทเท่านั้น โดยในส่วนของโครงการลงทุนที่เป็นข้อเสนอโครงการใหม่ หรือรายการที่เป็นค่าใช้จ่ายใหม่ในการเช่า เช่น รถยนต์ อาคารสำสักงานต่างๆจากหน่วยงานราชการก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งก็จะกระทบกับการทำงานของหน่วยงานราชการเช่นกัน
“การที่ยังไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม แต่เป็นรัฐบาลรักษาการต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานก็จะกระทบกับการจัดทำและการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะที่เป็นงบประมาณลงทุนใหม่ รวมทั้งงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง รายจ่ายการเช่าอาคาร หรือรถที่เป็นรายกการใหม่ที่หน่วยงานราชการจะขอมาไม่สามารถทำได้เช่นกันเพราะตามกฎหมายกำหนดให้การใช้งบประมาณไปพลางก่อนใช้งบประมาณได้เฉพาะรายการที่เหมือนกับในปีงบประมาณที่ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งจะเบิกจ่ายได้เฉพาะงบประมาณประจำในส่วนที่เท่ากับงบประจำในปี 2566 และงบลงทุนบางส่วนที่มีการผูกพันงบประมาณไว้แล้วให้สามารถเบิกจ่ายได้เท่านั้น”
เมื่อถามว่ากรณีที่ในอดีต “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เคยเป็นรัฐบาลรักษาการนานหลายเดือนหลังจากที่ยุบสภาฯในเดือน ธ.ค.และมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากการเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเดือน พ.ค.2557 ผ.อ.สำนักงบประมาณกล่าวว่าในช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการนานแต่ก็เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างกันเนื่องจากในขณะนั้นการยุบสภาฯเกิดขึ้นในเดือนธ.ค.
ขณะนั้นเป็นช่วงที่ พ.ร.บ.งบประมาณบังคับใช้แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงกระทบเฉพาะการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ซึ่งล่าช้าไปจากกำหนดเดิมไม่มาก เช่นเดียวกับการทำงบประมาณรายจ่ายปี 2568 หากรัฐบาลปัจจุบันรักษาการนาน 10 เดือนจริงก็จะทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ล่าช้าออกไปเพราะจะเริ่มขั้นตอนการจัดทำงบประมาณในช่วงครึ่งหลังของปี 2568