‘สภาพัฒน์’ชี้ตั้งรัฐบาลช้า 10 เดือน กระทบทำงบประมาณ 3 ปี 67-69

‘สภาพัฒน์’ชี้ตั้งรัฐบาลช้า 10 เดือน  กระทบทำงบประมาณ 3 ปี 67-69

‘สภาพัฒน์’ หวั่นตั้งรัฐบาลช้า ทำประเทศชะงักหลายด้าน หากนานถึง 10 เดือนกระทบทำงบฯ 3 ปีงบประมาณ 67-69 ทำแต่งตั้ง ขรก. การเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้า การเจรจาระหว่างประเทศ FTA ชะงัก สศช.ชี้เม็ดเงินลงระบบจำกัด คาด 2 ไตรมาส มีแค่ 1.8 ล้านล้าน ต้องหวังพึ่งเฉพาะการลงทุน รสก.และงบประจำ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงข้อเสนอของบางพรรคการเมืองที่ให้รัฐบาลปัจจุบันรักษาการยาว10 เดือน ก่อนที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี ว่าการที่รัฐบาลรักษาการยาวนานออกไปจะกระทบกับการบริหารราชการแผ่นดินในหลายด้านโดยเฉพาะเรื่องของการจัดทำงบประมาณ และการทำงบประมาณการลงทุนที่ไม่สามารถทำได้ในส่วนที่เป็นงบลงทุนใหม่ โดยหากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าออกไปกว่า 10 เดือนซึ่งถือว่าเป็นสมมุติฐานที่ยาวนานที่สุดก็จะกระทบกับการจัดทำงบประมาณถึง 3 ปีงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 – 2569ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเพราะปกติการจัดทำงบประมาณจะล่าช้าไปไม่กี่เดือนเท่านั้น

‘สภาพัฒน์’ชี้ตั้งรัฐบาลช้า 10 เดือน  กระทบทำงบประมาณ 3 ปี 67-69

ทั้งนี้ สศช.ได้ประเมินวงเงินที่จะลงไปในระบบเศรษฐกิจเฉพาะ 2 ไตรมาสหลังจากที่หมดปีงบประมาณ 2566  ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงที่มีเม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงที่ใช้งบประมาณไปพลางก่อนประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท โดยเป็นวงเงินจากภาครัฐ 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากการเบิกจ่ายงบประจำ และงบลงทุนที่มีการผูกพันไว้แล้ว ส่วนอีก 2 แสนล้านบาทเป็นเม็ดเงินที่มาจากการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากการจัดทำงบประมาณล่าช้าออกไปก็ต้องไปดูว่าจะมีเม็ดเงินจากรัฐวิสาหกิจที่ลงทุนได้เพิ่มหรือไม่ ส่วนเม็ดเงินการลงทุนจากภาครัฐที่เป็นรายการใหม่นั้นไม่สามารถทำได้เพราะต้องมาจากรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม

นอจากจาการจัดทำงบประมาณและการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนที่ล่าช้า อีกส่วนที่จะกระทบก็คือการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ (FTA) รวมทั้งความตกลงต่างๆที่มีการเจรจาหารือกับต่างประเทศไว้แล้วต้องการการลงนามในสัญญาที่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการนั้นจะไม่สามารถขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เป็น ครม.รักษาการได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะกระทบการค้า การลงทุนซึ่งทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจที่ควรจะได้รับด้วย

ส่วนการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงนั้นก็อาจจะได้รับผลกระทบด้วยเนื่องจากเมื่อ ครม.เห็นชอบในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงก็ต้องส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาด้วย ซึ่งอาจมีความล่าช้าออกไป

 

เมื่อถามว่าในการแต่งตั้งโยกย้ายเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณนี้มีตำแหน่งปลัดกระทรวงอะไรที่สำคัญๆบ้าง นอกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง และตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน นายดนุชากล่าวว่าน่าจะมีเท่านี้