ระเบิดเวลา ‘ข้าวไทย’ แทรกแซงตลาด ยิ่งทำชาวนาจน
ศูนย์การศึกษาระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เปิดบทวิเคราะห์ 10 ปี นโยบายแทรกแซงตลาดข้าวไม่ช่วยชาวนาไทย ยิ่งทำนายิ่งจน ฝากโจทย์รัฐบาลใหม่ต้องปฏิรูปข้าวทั้งระบบ เพิ่มงบวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าว เจาะตลาดข้าวพรีเมียม
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยบทวิเคราะห์ “10 ปีชาวนาไทย: จนเพิ่ม หนี้ท่วม?” ว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาศักยภาพในการผลิตข้าวของไทยมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ต้นทุนในการผลิตกลับเพิ่มขึ้นกว่า ทำให้เงินคงเหลือในกระเป๋าของชาวนาไทยน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาค ได้แก่อินเดีย เวียดนาม และเมียนมา
ในปี 2565 ต้นทุนการผลิตข้าวของไทยอยู่ที่ 5,898.5 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 2,058.8 บาท/ไร่ หรือ 53.6% จากปี 2565 เพิ่มขึ้นรองจากอินเดีย ขณะที่รายได้ปี 2565 อยู่ที่ 3,900.3 บาท/ไร่ ลดลง 777.7 บาท/ไร่ จากปี 2555 ที่มีรายได้ 4,678.0 บาท/ไร่จึงทำให้ในปี 2555 ชาวนามีเงินคงเหลือ 838.3 บาท/ไร่ แต่ปี 2565 ชาวนาขาดทุน 1,998.2 บาท/ไร่
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนามผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยต่ำกว่าเวียดนาม 3 เท่า โดยไทยมีผลผลิตเฉลี่ย 450 กก./ไร่ส่วนเวียดนามมีผลผลิตมากกว่า 1,000 กก. หรือมากกว่า 1 ตัน/ไร่
โดยในปี 2565 ไทยผลิตข้าวสารเป็นอันดับหกของโลก โดยผลิตข้าวสารได้ 20,200 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 3.9% ของการผลิตข้าวสารโลก ซึ่งไทยผลิตข้าวสารเพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบกับปี 2564 แต่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 2561-2565 ลดลง 0.1%
“ชาวนาไทยมีอาชีพทำนา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพ กระบวนการทำนาของชาวไทยขาดความเชี่ยวชาญ ความมีอัตลักษณ์และพิถีพิถัน เร่งการผลิตบนที่ดินที่ขาดคุณภาพ คิดแค่เรื่องผลผลิตและราคาโดยไม่ได้คำนึงถึงการปรับลดต้นทุน ดังนั้นยิ่งทำนา หนี้ยิ่งเพิ่ม เมื่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ผลผลิตต่อไร่และราคาขายลดลง”
โดยโครงสร้างต้นทุนการผลิตข้าวที่พุ่งสูงขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ ค่าปุ๋ย ค่าเช่าที่ดิน และค่าแรงในการดูแลรักษา ซึ่งการขาดทุนสะสมจากการทำนาทำให้ชาวนาต้องขายที่นา และเช่าที่นาตัวเองเพื่อทำการเกษตรต่อ
นอกจากนี้ งบประมาณในการวิจัยข้าวของไทยอยู่ที่ 200 ล้านบาท ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับเวียดนามที่มีงบวิจัย 3 พันล้านบาท ส่วนอินเดีย จีน และญี่ปุ่นก็มีงบในการวิจัยข้าวมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
“นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถปลดหนี้ให้กับชาวนาได้เนื่องจากขาดโมเดลในการเข้ามาช่วยลดต้นทุนให้ชาวนาและเกษตรกร รวมทั้งการพัฒนาการวิจัยเพื่อยกระดับผลผลิตต่อไร่”
โดยจากบทวิเคราะห์สะท้อนให้เห็นว่านโยบายการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาหนี้ให้ชาวนา ทั้งยังไปทำลายศักยภาพในการแข่งขันและการพัฒนาข้าวไทย
“ดังนั้นจึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ให้กลับมาทบทวนและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาข้าวจากต้นตอ โดยไม่ใช้นโยบายแทรกแซงตลาดอีก ไม่อย่างนั้นศักยภาพการแข่งขันของข้าวไทยจะยิ่งลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากและเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของเกษตรกรไทย”
สำหรับโจทย์ที่อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มงบวิจัยข้าว ให้เกิดการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มีอัตลักษณ์ โดยมุ่งทำการตลาดกลุ่มข้าวพรีเมียม ข้าวออแกนิก ตามเทรนด์ผู้บริโภคในปัจจุบันที่สนใจเรื่องสุขภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการแหล่งน้ำ อาทิ การให้ซอฟต์โลน ในการขุดสระ บ่อน้ำสำหรับกักเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนนี้ โดยควรกำหนดแผนจัดการน้ำเป็นวาระเร่งด่วนเพราะภัยแล้งจากเอลนีโญที่จะเกิดขึ้นในปีนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่และลากยาวไปอีกหลายปี
สำหรับแนวโน้มการส่งออกข้าวในปี 2567 ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว คาดว่าไทยจะส่งออกได้ตามเป้า 7 ล้านตันเนื่องจากเวียดนามมีนโยบายลดการส่งออกข้าว ดีมานต์ความต้องการจากหลายประเทศเผชิญกับภัยแล้ง รวมทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ห้ามส่งออกธัญพืช ทำให้ความต้องการข้าวเพิ่มขึ้นมาทดแทนข้าวสาลี อย่างไรก็ตาม เอลนีโญก็เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ไทยมีผลผลิตข้าวไม่ถึงตามเป้า