'วิษณุ' มอบนโยบาย ตั้ง บิ๊กขรก. รับโหวตนายกฯช้า หวั่น ส.ค.ไม่ได้รัฐบาลใหม่
"วิษณุ" ให้แนวทางแก้ปัญหาตั้งรัฐบาลช้า กระทบแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง C10 - C11 หลังตั้งรัฐบาลช้า กระทบการแต่งตั้งช่วงปลายปีงบประมาณ ให้ สลค.รับเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายตามความเหมาะสม ครม.จะพิจารณาก่อน ส่งกกต.คาดกกต.อนุมัติง่ายขึ้น ตามเงื่อนไขเวลา และความจำเป็น
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าจากปัญหาการตั้งรัฐบาลล่าช้าซึ่งมีแนวโน้มว่าจะกระทบการบริหารงานราชการในหลายส่วน โดยเฉพาะในช่วงใกล้ระยะเวลาสิ้นปีงบประมาณในวันที่ 30 ก.ย.2566 โดยเฉพาะปัญหาการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในระดับ 10 – 11 ซึ่งกระทรวงต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน
ทั้งนี้โดยปกติการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงจะมีขึ้นในช่วง 1 – 2 เดือนก่อนสิ้นปีงบประมาณ เพื่อให้ข้าราชการระดับสูงที่จะต้องเข้าไปทำงานแทนคนที่จะเกษียณอายุราชการสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง โดยรับมอบงานต่อจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งเดิม และสามารถเริ่มทำงานในวันที่ 1 ต.ค.ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของปีงบประมาณใหม่ได้ทันที
อย่างไรก็ตามในปีนี้มีความแตกต่างออกไปเนื่องจากหลังจากที่มีการยุบสภาในเดือน มี.ค.2566 และข้าสู่การเลือกตั้ง รัฐบาลและครม.ปัจจุบันทำหน้าที่ในการรักษาการซึ่งตามข้อกำหนดตามกฎหมายไม่สามารถอนุมัติให้มีการแต่งตั้งโยกย้ายได้ต้องรอให้รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งในตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ ปลัดกระทรวง อธิบดี และหัวหน้าส่วนราชการของรัฐวิสาหกิจ ยกเว้นว่าจะมีความจำเป็นเร่งด่วนจึงจะสามารถที่จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบแต่ต้องส่งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาก่อนซึ่งที่ผ่านมาก็มีปัญหาเรื่องของการแต่งตั้งผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) คนใหม่ที่ กกต.ยังไม่เห็นชอบให้มีการแต่งตั้ง ตามที่ ครม.ได้ให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้
แหล่งข่าวกล่าวว่าที่ผ่านมา ครม.รักษาการมีนโยบายที่จะไม่พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายในตำแหน่งที่เป็นข้าราชการระดับสูง เนื่องจากคาดว่าในเดือน ส.ค.จะมีรัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาบริหารประเทศ แต่ล่าสุดหลังจากไทม์ไลน์ทางการเมืองได้เลื่อนออกไป การโหวตนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ข้อยุติในเดือน ก.ค.ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ในเดือน ส.ค.ครม.ชุดใหม่ก็ยังไม่ได้เข้ามาทำงานในทำเนียบรัฐบาล
ซึ่งทำให้ ครม.รักษาการต้องทบทวนความจำเป็นในการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงที่หน่วยงานราชการจะเสนอเรื่องเข้ามาให้ ครม.พิจารณา โดยล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายแกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ ครม.ว่าให้สามารถบรรจุเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง รวมทั้งหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้ามาให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบได้
โดย ครม.จะพิจารณาให้ จากนั้นจะส่งไปที่ กกต.เพื่อพิจารณาให้ ซึ่งก็มีโอกาสมากขึ้นที่ กกต.จะพิจารณาเห็นชอบตามที่ ครม.เสนอ เพราะที่ผ่านมาในกรณีที่ กกต.ไม่เห็นชอบเป็นเรื่องของระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของคนเดิมที่ยังไม่หมดวาระ แต่หากใกล้ระยะเวลาที่คนเดิมจะหมดวาระหรือเกษียณอายุราชการแล้ว ก็คาดว่า กกต.จะอนุมัติให้เพื่อให้มีคนที่สามารถทำงานในตำแหน่งสำคัญของหน่วยงานได้
ก่อนหน้านี้ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า การแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวงขึ้นไปรัฐบาลรักษาสามารถทำได้ โดยให้หน่วยงานเสนอให้สำนักเลขาคณะรัฐมนตรีเสนอ ครม. เพราะจะสิ้นปีงบประมาณแล้วไม่อย่างนั้นจะไม่มีคนทำงาน เพราะประเทศต้องเดินต่อไปข้างหน้า ซึ่ง ครม. แต่งตั้งและเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. หาก กกต. เห็นว่าเป็นเรื่องการเมืองมีสิทธิ์ที่จะไม่อนุมัติก็ได้
เช่น กรณีการแต่งตั้งผู้ว่าการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ หาก กกต. ไม่อนุมัติก็ต้องรอจนรัฐบาลใหม่เป็นผู้แต่งตั้ง โดยในส่วนของกระทรวงต่างๆหากปลัดกระทรวงเกษียณอายุแล้วยังไม่มีการแต่งตั้งคนใหม่ระหว่างนี้รองปลัดอาวุโสสูงสุดรักษาการไปก่อน ซึ่งในการทำงานต้องทำเฉพาะที่เป็นงานปกติในลักษณะงานประจำ การทำงานในเชิงรุกที่เป็นงานใหม่ก็จะไม่มี
ด้านนางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการ ครม.เปิดเผยว่าในช่วงที่ผ่านมา การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงขณะที่อยู่ในช่วง ครม.รักษาการ ครม.ต้องเสนอไปให้ กกต.พิจารณา ซึ่งตอนนี้ได้มีการแต่งตั้งข้าราชการระดับ 9 – 10 (ซี9-ซี10) ในบางตำแหน่งสามารถทำได้เมื่อผ่านที่ประชุม ครม.แล้ว กกต.ให้ความเห็นชอบ โดยส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งที่ปรึกษา หรือตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นระดับ 10 ส่วนใหญ่ กกต.จะเห็นด้วยทั้งหมด เนื่องจากตำแหน่งเหล่านี้มีความชัดเจน เช่น รองเลขาธิการ ซึ่งเป็นตำแหน่งเฉพาะตัวบุคคล เพราะเป็นข้าราชการที่มีการทำผลงานทางวิชาการขึ้นมาต่อเนื่องซึ่ง กกต.ก็อนุมัติให้
ส่วนตำแหน่งในการบริหาร กกต.ก็มีการอนุมัติให้ผู้ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยการพิจารณา กกต.จะฟังเหตุผลและความจำเป็นของแต่ละตำแหน่ง ซึ่งจะมีการสอบถามถึงความจำเป็นของการแต่งตั้งตำแหน่งบริหาร ซึ่งต้องยืนยันกับ กกต.ว่าหากไม่มีตำแหน่งตามที่ ครม.อนุมัติไปแล้วจะส่งผลต่อการบริหารงานอย่างไรซึ่งต้องอธิบายเหตุผลให้กกต.เข้าใจ
สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็เป็นในลักษณะเดียวกัน โดยหาก กกต.ยังไม่เห็นชอบตามที่ ครม.เสนอก็มีการทำข้อมูลกลับไปให้ กกต.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เช่น ในกรณีของการแต่งตั้งผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซึ่ง ครม.ให้ความเห็นชอบให้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่แทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าฯกฟผ.ที่จะหมดวาระในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานได้มีการส่งเอกสารและข้อมูลถึงความจำเป็นในการตั้งผู้ว่า กฟผ.คนใหม่ไปยัง กกต.เป็นรอบที่ 2 ซึ่งในสัปดาห์ก่อนเข้า ครม.มาอีกครั้ง แต่นายวิษณุให้ความเห็นว่ามติในเรื่องนี้ ครม.เคยให้ความเห็นชอบไปแล้ว เฉพาะฉะนั้นหากจะเข้า ครม.เพื่อให้ ครม.เห็นชอบผู้ว่าฯกฟผ.คนเดิมก็คงไม่ถูกต้องจึงให้กระทรวงพลังงานส่งข้อมูลเพิ่มไปยัง กกต.โดยตรง
“รองฯวิษณุบอกว่าในเรื่องนี้ ครม.ยังไม่มีแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ จึงขอให้เป็นแนวทางปฏิบัติล่าสุดว่า กรณีที่ ครม.มีมติเห็นชอบเสนอไปยัง กกต.แล้วยังไม่ผ่านในรอบแรก รอบต่อไปถ้าหน่วยงานยังคงยืนยันที่จะมีการเสนอบุคคลเดิมให้ดำรงตำแหน่งในช่วงที่ยังเป็นรัฐบาลรักษาการก็ให้ถือเป็นมติ ครม.ในหลักการไปเลยว่าให้หน่วยงานส่งหลักฐาน เอกสารเพิ่มเติมไปยัง กกต.ได้เพื่อขอให้ กกต.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง”