หอการค้าฯห่วงตั้งรัฐบาลช้า 'ฉุด' จีดีพี
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยห่วงตั้งรัฐบาลล่าช้าเกินเดือนก.ย.ฉุดเศรษฐกิจปีหน้าฟื้นช้าโตได้ไม่ถึง 3.5% ขณะสถานการณ์หนี้ครัวเรือนปีนี้พุ่งแตะ 550,000 บาทต่อครัวเรือน และคาดว่ายอดหนี้จะพุ่งสูงสุดในปีหน้า
อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ธนวรรธน์ พลวิชัย ระบุ ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติต้องชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนของนโยบาย และขณะที่มีรัฐบาลรักษาการต้องใช้โครงสร้างงบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อนทำให้งบลงทุนไม่สามารถนำมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งทำให้งบลงทุนกว่า 7 แสนล้านที่ปกติจะขับเคลื่อนได้ในไตรมาสที่ 1 จะถูกชะลอ หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ากว่าเดือนส.ค. งบประมาณอาจจะล่าช้าออกไปถึงไตรมาส 3 ปีหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั้งปีนี้แม้จะไม่มาก และปีหน้าจะมีผลในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปี ซึ่งประเมินหากจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือนส.ค.- ก.ย. จีดีพีปีนี้จะโตได้ในกรอบ 3-3.5% ส่วนปีหน้ามีโอกาสโตได้ 3.5-4%
หนี้ครัวเรือนพุ่งแตะ 5.59 แสนบาท/ครัวเรือน
สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นมากที่สุดตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 15 ปี และจะสูงที่สุดในปี 2567
โดยในปี 2566 อยู่ที่เฉลี่ยครัวเรือนละ 559,408 บาท ขยายตัว 11.5% สาเหตุสำคัญเป็นผลพวงมาจากสงครามการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น และจากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพสูง รายได้ต่ำ ไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายไปจนถึงปี 2567
ทั้งนี้ ในภาพรวมแม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะสูงที่ระดับ 90% ของจีดีพี แต่แนวโน้มจีดีพีที่ปรับสูงขึ้น เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ครัวเรือนไม่ก่อหนี้เพิ่ม และหนี้ที่ก่ออยู่ในระบบจึงมองว่าไม่ใช่ปัญหารุนแรงต่อภาพโดยรวมของเศรษฐกิจ โดยในระยะสั้นต้องฟื้นเศรษฐกิจให้เร็ว สถาบันการเงินต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อดูแลผู้ที่มีปัญหาหนี้ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังดูแลอยู่ รวมถึงแนวโน้มในการบริหารหนี้ของเจ้าหนี้ที่ให้ลูกหนี้ปรับตัวได้ ส่วนระยะยาวคือ การให้ความรู้ ด้านการเงินในการวางแผนการใช้จ่าย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์