ส่องแผนแม่ ‘M-MAP’ รถไฟฟ้าระยะ 2 เคาะ 4 เส้นทาง พร้อมดันรัฐบาลใหม่
“กรมการขนส่งทางราง” เคาะแผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับใหม่M-MAP 2 รวม 33 เส้นทางที่เป็นไปได้ เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่เดินหน้า 4 เส้นทางเร่งด่วน เม็ดเงินลงทุนกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท หวังเปิดบริการภายในปี 2572
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยถึงผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP 2 โดยระบุว่า กรมฯ ได้จัดทำแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางสอบถามความต้องการการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้ข้อสรุปออกมาเป็นแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่ประชาชนต้องการให้พัฒนารวม 33 เส้นทาง และจะถูกบรรจุไว้ในแผนแม่บทรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฉบับใหม่ หรือ M-MAP 2
สำหรับแนวเส้นทางที่ประชาชนนำเสนอและเป็นแนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ทั้งหมด (Project Long List) ทั้ง 33 เส้นทางนั้น จะถูกนำมาคัดกรองทั้งด้านกายภาพและจำนวนผู้โดยสาร เพื่อให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เลือก (Project Short List) นำมาจัดลำดับความสำคัญและทำแผนการพัฒนา ก่อนนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเพื่อเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนต่อไป
“การพัฒนา M-MAP 2 ได้รวบรวมแนวเส้นทางมาจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนำเสนอ และยกมาจากเส้นทางที่ยังไม่ได้พัฒนาใน M-MAP 1 รวม 33 เส้นทางมาจากเส้นทาง M-MAP 1 ที่ยังไม่ดำเนินการ 8 เส้นทาง เส้นทางใหม่ 14 เส้นทาง และเส้นทางต่อขยาย 11 เส้นทาง แต่กรมฯ ได้นำโครงการทั้งหมด มาศึกษาจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน และประเมินดีมานด์การเดินทางของประชาชน จัดออกเป็นกลุ่มย่อยรอเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณา”
โดยการจัดลำดับความสำคัญแผนการพัฒนา M-MAP 2 สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดยกลุ่ม A1 ถือเป็นเส้นทางที่มีความจำเป็น มีความพร้อมในผลการศึกษาต่างๆ และสามารถดำเนินการทันที รวมจำนวน 4 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวมกว่า 63,474 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.รถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต – ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 6,468 ล้านบาท
2. รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 10,670 ล้านบาท
3. รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 4,616 ล้านบาท
4.รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – บึงกุ่ม ระยะทาง 22.1 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 41,720 ล้านบาท
ซึ่งในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล กรมฯ ได้เสนอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตรวจสอบด้วยว่าแนวเส้นทางจะมีผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานในโครงการอื่นกรณีเข้าข่ายสร้างทางแข่งขันหรือไม่ หากไม่กระทบก็สามารถเสนอโครงการและเริ่มขั้นตอนเปิดประกวดราคา
นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า กรมฯ ประเมินว่า 4 โครงการรถไฟฟ้าที่มีความพร้อมดำเนินการทันทีนั้น ตามขั้นตอนหากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเสร็จ และสามารถพิจารณาแผนพัฒนา M-MAP 2 ได้ทันที โครงการเหล่านี้จะสามารถเข้าสู่ขั้นตอนเปิดประกวดราคาจัดหาเอกชนร่วมลงทุนได้ เนื่องจากทุกโครงการได้ผ่านการศึกษาความเหมาะสมของแนวเส้นทางและรูปแบบการลงทุนแล้ว เบื้องต้นจึงมั่นใจว่า 4 โครงการรถไฟฟ้านี้จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572
สำหรับรูปแบบการลงทุนรถไฟฟ้าภายใต้แผนพัฒนา M-MAP 2 กรมฯ ประเมินความเหมาะสมไว้ว่าจะมอบหมายความรับผิดชอบในการผลักดันโครงการเหล่านี้ให้กับ รฟม. ซึ่งคาดการณ์ว่าจะใช้รูปแบบการลงทุนในลักษณะเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) โดยกรมฯ จะเสนอให้ภาครัฐเพิ่มสัดส่วนการลงทุนให้มากขึ้น เพื่อส่งผลบวกต่อต้นทุนของภาคเอกชนลดลง และนำมาสู่การกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง อีกทั้งโครงการในแผนพัฒนา M-MAP 2 จะมีการกำหนดข้อบังคับยกเว้นค่าแรกเข้าสำหรับการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าด้วย