‘หอการค้า’ มองเงินเฟ้อ ไตรมาส 3 ขยายตัวต่ำ

‘หอการค้า’ มองเงินเฟ้อ  ไตรมาส 3 ขยายตัวต่ำ

“หอการค้า” ชี้ ไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศเงินเฟ้อต่ำ คาดไตรมาส 3 ยังคงมีทิศทางต่ำ หลังครึ่งปีแรกขยายตัว 2.49% ด้านกระทรวงพาณิชย์คาดเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ เป็น 1-2% ค่ากลาง 1.5%

สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อของไทยที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง ทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2566 จากเดิม 1.7-2.7% ค่ากลาง 2.2% เป็น 1-2% ค่ากลาง 1.5% ภายใต้สมมติฐานจีดีพีขยายตัว 2.7-3.7% น้ำมันดิบดูไบบาร์เรลละ 71-81 ดอลลาร์ และอัตราแลกเปลี่ยน 33.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 2.49%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารอยู่บนความเสี่ยงและความท้าทายโลก อาทิ สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันปรับตัว และสถานการณ์เอลนีโญ

ทั้งนี้ สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงเร็ว และความเสี่ยงราคาพลังงานจะเร่งตัวช่วงปลายปีมีจำกัดตามอุปสงค์พลังงานโลกและจีนที่ยังอ่อนแอ โดยเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2566

สำหรับคาดการณ์ครึ่งปีหลังคาดว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 3 ปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราค่อนข้างต่ำ แม้ราคาสินค้าอาหารยังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากภัยแล้งเอลนีโญ โดยเฉพาะผักผลไม้ ไข่และนม อาหารสำเร็จรูป โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลงมาอยู่ที่ 1-2% เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์ทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร). ยังคงประมาณการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ 2.2-2.7%

 

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศในเดือน พ.ค.2566 พบว่าอัตราเงินเฟ้อไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศ โดยต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งของโลก แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการรัฐต่างๆ รวมทั้งภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าที่คาด ยังเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาด

ขณะที่แนวโน้มราคาสินค้าอาหารพบว่าสูงขึ้น 3.37% ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ผักและผลไม้สด ไข่ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตมีไม่มาก ประกอบกับความต้องการเพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูป (อาหารเช้า อาหารตามสั่ง) ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงผลิตภัณฑ์นม และข้าวสาร สินค้าอาหารบางรายการ ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร เนื่องจากมีปริมาณออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น เครื่องประกอบอาหาร ผักสดบางชนิด

 

 

ผลกระทบเงินเฟ้อต่ออุตสาหกรรมอาหาร

 

เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงย่อมบั่นทอนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนให้อ่อนแอลง ผู้บริโภคต้องใช้เงินก้อนใหญ่ขึ้นเพื่อซื้อสินค้า และลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง กลุ่มคนที่มีรายได้เติบโตไม่ทันกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลทำให้พวกเขาต้องลดปริมาณการจับจ่ายลง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายในภาคธุรกิจทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งกระทบทั่วโลก ที่ส่งผลต่อยอดการส่งออกและกระทบต่อไทยในยอดขายการบริโภคในไทย

 

 

 

ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารของไทยอยู่ภายใต้แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ โดยผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมอาหารนั้นจะเป็นผลกระทบโดยตรงและทางอ้อมผ่านการเปลี่ยนแปลงตัวแปรเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องด้วยอุตสาหกรรมอาหารด้านการส่งออกอาหารเป็นสัดส่วน 8 % ของ GDP ประเทศไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2566

 

 

 

โดยฝั่งผู้บริโภค อัตราเงินเฟ้อส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้ออ่อนตัวลง โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นแต่รายได้ผู้บริโภคยังตามไม่ทัน ทำให้ผู้บริโภคหรือภาคครัวเรือนต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อรักษาระดับการบริโภคของตน ซึ่งข้อจำกัดด้านรายได้ จะทำให้มีกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย เช่น ชนชั้นกลาง กลุ่มคนรายได้น้อย ด้อยโอกาส คนจนในเมือง ที่ไม่อาจรักษาระดับการบริโภคของตนไว้ได้ ต้องยอมลดการบริโภคลง สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบทำให้ตลาดอาหารภายในประเทศอ่อนตัวลง กระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นตลาดในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารฟุ่มเฟือย

ขณะที่ฝั่งผู้ผลิต ผลกระทบทางลบต่อต้นทุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจที่มาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกสาขาการผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร แต่ระดับความรุนแรงขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าที่ผลิต ขนาดของกิจการและปัจจัยอื่นๆเป็นต้น ซึ่งผลกระทบด้านต้นทุนจะกระทบรุนแรงมากในกลุ่มธุรกิจรายย่อยซึ่งมีโอกาสได้รับผลกระทบรุนแรงกว่ารายใหญ่ เนื่องจากขนาดทุน สายป่านทางด้านเงินทุนไม่เท่ากัน การบริหารด้านราคาและปริมาณของวัตถุดิบ ซึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีจำนวนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารปี 2565 มีจำนวน 1.4 แสนราย โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาด MSME และ SME กว่า 98 % ขนาดกลางและขนาดใหญ่ราว ร้อยละ2 % ส่วนในภาคบริการการจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารคาดว่าได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นเรื่องที่จะต้องมองภาพรวม และที่สำคัญสถานการณ์ของผู้ประกอบการในประเทศไทยเองที่อาจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นราคาน้ำมันส่งผลต่อเงินเฟ้อ

ราคาน้ำมันแพงทำให้เงินเฟ้อ และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จะเร่งให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำมันเป็นต้นทุนหลักในการขนส่ง การผลิตสินค้าต่าง ๆ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่เงินเฟ้อ ซึ่งจะบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค เพิ่มภาระแก่ภาคครัวเรือนที่ปัจจุบันมีหนี้สูงมากอยู่แล้ว จนนำไปสู่หนี้เสียที่เพิ่มขึ้น และกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในที่สุด

ราคาน้ำมันโลกแนวโน้มขึ้นต่อเนื่องมา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน จากอุปทานตึงตัว ขณะที่ได้แรงหนุนจากอุปสงค์จากจีนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น และทางการจีนเตรียมประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ เพิ่มขึ้น 25 เซ็นต์ หรือ 0.3% เคลื่อนไหวที่ระดับ 82.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรน ส่วนน้ำมันดิบ WTI ตลาดนิวยอร์ก เพิ่มขึ้น 27 เซ็นต์ เคลื่อนไหวที่ 79.01 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 จากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และราคาน้ำมันดิบ ICE Brent กลับมาเหนือระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบ 6 วัน จากสถานการณ์สงครามยูเครนและรัสเซียตึงเครียด