“ท่าเรือบก ท่านาแล้ง”โลจิสติกส์กระตุ้นศักยภาพค้าชายแดนแสนล้าน
บรรยากาศการค้าและการลงทุนท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจโลกที่คอยแต่จะดิ่งหัวลงอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง เพียงแค่ไม่ให้ติดลบก็ลุ้นกันเหนื่อย แต่ยังมีมุมเล็กๆของการค้าระหว่างประเทศที่สดใส นั่นคือการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน โดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
ระบุว่าเดือนมิ.ย. 2566 มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน 152,364 ล้านบาท ลดลง 8.84% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน(yoy)
ทั้งนี้ แบ่งเป็นการส่งออกผ่านแดนเพิ่มขึ้น 8.03% ส่วนการส่งออกชายแดนลดลง 15.27% ซึ่งการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ (สปป.ลาว มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา มีมูลค่าการค้ารวม 75,825 ล้านบาท ลดลง 17.62% ขณะที่การค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม (จีน เวียดนาม สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ) มีมูลค่ารวม 76,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.92% ซึ่งตลาดที่น่าจับตาคือ จีน มีมูลค่าส่งออก 29,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.41% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทุเรียนสด ฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ และมังคุดสด
เป็นที่ทราบกันดีว่าสปป.ลาวมีรถไฟเชื่อมไปถึงประเทศจีน ในชื่อ โครงการรถไฟ ลาว-จีน แต่โครงการเดียวกันนี้ก็เป็นหนึ่งในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างไทยกับจีนเพื่อส่งเสริมให้การเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและการค้าของทั้งสองประเทศ
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ล่าสุด จีนได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชที่ด่านรถไฟโม่ฮานเสร็จแล้วส่งผลให้เกิดช่องทางการขนส่งสินค้าของไทยไปจีนมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งสองฝ่ายยังต้องติดตามสถานะการส่งออกสินค้าผ่านเส้นทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะมีการหารือความคืบหน้าีอกครั้งในการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย -จีน ซึ่งเป็นการประชุมระดับนายกรัฐมนตรี โดยคาดว่าจะจัดขึ้นไตรมาส 4 ปี 2566
เมื่อเร็วๆนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ลงพื้นที่ท่านาแล้ง เพื่อศึกษาดูงานและรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับกระบวนการขนส่งและการเปลี่ยนถ่ายสินค้าไทย ซึ่งจะถูกขนส่งผ่านแดนสปป.ลาวไปยังจีนทางถนน (เส้นทางR3A)และรถไฟลาว จีน พร้อมเยี่ยมชมสถานีรถไฟเวียงจันทน์ใต้ เพื่อดูการเปลี่ยนถ่ายสินค้าขึ้นรถไฟขนส่งไปจีนพร้อมกระบวนขนส่งและการเปลี่ยนถ่ายสินค้าไทย ณ สปป.ลาว
สำหรับท่าบกท่านาแล้ง ตั้งอยู่ภายในเวียงจันทน์โลจิสติกพาร์ค เป็นหนึ่งในโครงการที่สปป.ลาวพัฒนาขึ้น เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (landlocked) สู่ประเทศที่เชื่อมต่อทางพรมแดน (land-linked) ได้ โดยเป็นจุดอำนวยความสะดวกอย่างครบวงจรในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ขนส่งจากไทย ผ่านจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์) เข้าสู่สปป.ลาว
ทำให้สินค้าที่ผ่านเส้นทางนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อเข้าสู่ตลาดสปป.ลาว และอีกส่วนหนึ่งเพื่อขึ้นรถไฟจีน-ลาว สู่ตลาดจีน โดยรถไฟจีน-ลาว ได้ช่วยลดระยะเวลาการขนส่งลงอย่างมาก จากที่เคยใช้เวลาผ่านถนนเส้นทาง R3A ประมาณ 2 วัน เพื่อไปจีน เป็นใช้เวลาบนรถไฟไม่เกิน 15 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันรถไฟจีน-ลาว มีขบวนขนส่งสินค้าเข้า-ออก 14 ขบวนต่อวัน ขาเข้าและขาออกอย่างละ 7 ขบวน นับตั้งแต่จีนสร้างจุดตรวจเช็คด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ที่ด่านรถไฟโม่ฮานแล้วเสร็จ และเปิดให้นำเข้าผลไม้จากไทย
Sakhone Philangam ผู้อำนวยการท่าบกท่านาแล้ง กล่าวว่า บริษัท เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ พาร์ค จัดการและบริหารท่าเรือบก (Dry Port) ซึ่งเชื่อมต่อแผนพัฒนาท่าเรือที่เวียดนาม และเชื่อมต่อไฮเวย์เส้นทางสำคัญๆ เพื่อหาทางออกสู่ทะเล ตามเป้าหมาย Lao Logistic Link 2016-2030
“ที่ท่านาแล้งสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟมุ่งไปจีนได้เลยโดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถหรือยกของลงเพราะรางรถไฟของลาวมีขนาดเดียวกับรางมาตรฐานของจีน คือ 1.435 เมตร ขณะที่รางของไทยกว้างเพียง 1 เมตร จึงไม่สามารถเชื่อมต่อขบวนได้ต้องยกตู้สินค้าลงจากรางและส่งต่อไปยังรางมาตรฐาน”
นอกจากนี้ ท่าบกท่านาแล้ง มีคุณสมบัติและมาตรฐานระดับสากลเพราะได้โค้ดท่าขนส่งสินค้าจากหน่วยงานสากลแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการขนส่งผ่านท่านี้ในปริมาณที่มากพอจึงต้องสร้างดีมานด์ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่มีอยู่3 แห่งที่จะนำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซีย ขณะที่สปป.ลาวก็ส่งออกแร่โปรแตสให้อินโดนีเซียเพื่อผลิตปุ๋ยเคมี
ส่วนศักยภาพของการจัดการแบบครบวงจรในพื้นที่ Logistic Park จะใช้เวลาเฉลีี่ย 2 นาที/คัน รับได้วันละ 1,900 คัน ปัจจุบันมีสินค้าใช้บริการอยู่ 800 คันที่มาจากไทย หากทำการตลอด 24ชั่วโมงจะให้บริการได้มากถึง 2,700 คัน ซึ่งเป็นการนำเข้าจากไทยผ่านสะพานมิตรภาพ สินค้าส่วนใหญ่ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง รถยนต์ ส่วนที่สินค้าจากไทยไปจีน มังคุด ทุเรียน
ความพยายามแก้ไขอุปสรรคให้กลายเป็นโอกาส เป็นทางออกสำหรับการค้าในยุคที่การแข่งขันไม่ได้มีแต่คู่ค้าด้วยกันเท่านั้น แต่เป็นการแข่งขันกับข้อจำกัดและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่คาดเดาได้ยาก