เหล็กจีนทุ่มตลาดไทย สถาบันเหล็กฯ หนุนเพิ่มมาตรการตอบโต้
เหล็กจีนเลี่ยงเอดี กินส่วนแบ่งตลาดเหล็กไทย 5 เดือนแรกปี 2566 นำเข้าเหล็กกว่า 70% สถาบันเหล็กฯ หนุนเพิ่มมาตรการตอบโต้ ใช้กำลังผลิตในประเทศ
นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กพบว่า การบริโภคเหล็กของไทย ตั้งแต่ม.ค.-พ.ค.2566 อยู่ที่ 7.17 ล้านตัน ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 7.03 ล้านตัน อย่างไรก็ตามช่วง 5 เดือนแรกของปี อุตสาหกรรมภายในประเทศสามารถผลิตเหล็กจำนวน2.81 ล้านตัน ลดลงถึง 14.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า
ขณะที่เมื่อเทียบกับการนำเข้าไทยมีการนำเข้าถึง 4.99 ล้านตัน เพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 15.6% ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสินค้าในประเทศถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดจากสินค้านำเข้า ในขณะที่ประเทศไทยมีการส่งออกอยู่ที่ 0.63 ล้านตัน ขยายตัว9.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กของผู้ผลิตในประเทศไทยใน 5 เดือนแรกปีนี้เฉลี่ยที่ 29% ลดลงจาก 33% จากช่วงเดียวกันในปี 2565
ทั้งนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตของประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่อยู่ในระดับ 52.3% ซึ่งปัญหาหลักเกิดจากการที่ประเทศไทยยังมี การนำเข้าเหล็กในสัดส่วนที่สูงมากในอัตรา70% ของการบริโภค ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยการนำเข้าของประเทศในอาเซียนที่อยู่ในระดับเพียง 22% เท่านั้น
ขณะที่แนวโน้มราคาของสินค้าเหล็กทั้งในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศอาเซียน ยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่ประเทศจีนมีการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปเป็นจำนวนมากในครึ่งแรกของปี 2566 โดยมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 41.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งตลาดการส่งออกหลักของจีนอยู่ที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีอัตราการนำเข้าจากจีนสูงขึ้นถึงกว่า 50%
โดยครึ่งแรกของปี 2566 จีนมีปริมาณการผลิตเหล็กในประเทศสูงขึ้นเป็น 445 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แสดงให้เห็นถึงปัญหาของอุปสงค์ภายใน
นอกจากนี้ จากปัจจัยดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาสินค้าเหล็กของประเทศไทย และประเทศในอาเซียนด้วยโดยสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศจีน (China Iron and Steel Association: CISA) ได้เปิดเผยข้อมูลดัชนีราคาเหล็กของจีน (China steel price index: CSPI) ประจำเดือนมิ.ย. 2566 อยู่ที่ระดับ 109.19 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับระดับดัชนีราคาในเดือนเดียวกันของปี 2565 ที่ระดับ 122.52
“ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาตลาดสินค้าเหล็กยังต้องฝากความหวังไว้กับการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ของครึ่งปีหลัง ที่จะเป็นตัวดูดซับปริมาณเหล็กที่ผลิตออกมา”
นายวิโรจน์ กล่าวเสริมว่า สินค้าเหล็กสำเร็จรูปที่นำเข้าจากประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้ผลิตในประเทศ ส่วนใหญ่เกิดจากการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Circumvention) เช่น สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนหรือสินค้าเหล็กลวดที่มีการเจืออัลลอย เพื่อหลบเลี่ยงพิกัดศุลกากรที่มีปริมาณนำเข้าในช่วง 5 เดือนแรกปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง286% และ 23.7% ตามลำดับ หรือการนำเหล็กเคลือบประเภทต่างๆ มาใช้แทนเหล็กเคลือบที่มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ส่งผลให้เกิดการบั่นทอนประสิทธิภาพการบังคับใช้มาตรการ AD ในปัจจุบัน
“ดังนั้น สถาบันเหล็กฯ จึงเห็นว่าการใช้ตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti-Circumvention: AC) มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับที่ประเทศต่างๆ มีการบังคับใช้ เช่น กรณีสหภาพยุโรปมีการใช้มาตรการ AC กับสินค้าเหล็กเคลือบสังกะสีของจีน หรือกรณีที่สหรัฐใช้มาตรการ AC กับสินค้าเคลือบสังกะสีจากเวียดนาม หรือกรณีที่บราซิล ใช้มาตรการAC สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยจากประเทศจีน เป็นต้น”