คณะวิทย์ มธ. เปิดโรดแมป “ลดหนี้สาธารณะ” ของไทย
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จับตา “หนี้สาธารณะไทย” หลังพบปี 2566 มีหนี้สะสมสูง 10 ล้านล้านบาท สาเหตุจากรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย พร้อมเปิดโรดแมป “ลดหนี้สาธารณะ” ใน 3 ระยะ สั้น-กลาง-ยาว
- นักคณิตศาสตร์ มธ. แนะวัยรุ่นสร้างตัวยุคดิจิทัล วางแผนตั้งรับมีเงินใช้ยามฉุกเฉินใน 3 ขั้นตอน ‘เป็นหนี้ให้น้อยที่สุด-สำรองเงินออม 6 เดือนขึ้นไป-เริ่มต้นลงทุนแบบง่ายๆ’
- นักคณิตศาสตร์ มธ. แนะโมเดลการออมกลุ่มเปราะบาง แรงงานรายวัน ปรับสมการ “เก็บออมก่อนใช้” ราว 5-10% หลังพบเพดานรายได้ขั้นต่ำที่ 354 บาทต่อวัน
รศ.วิชัย วิทยาเกียรติเลิศ อาจารย์ประจำสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้สาธารณะสะสมสูงถึง 10 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60-61 ของจีดีพี
โดยจัดอยู่ในประเทศที่มีภาระหนี้สาธารณะอันดับที่ 120 ของโลกและอันดับที่ 4 ของอาเซียน จากกรณีที่รัฐมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย แม้มีรายได้จากภาษีและรัฐพาณิชย์กว่า 2.66 ล้านล้านบาทต่อปี
ในปี 2566 นี้คาดการณ์ว่ารัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นที่ 2.7-2.8 ล้านล้านบาท จากแผนกู้เงินกว่า 3.22 ล้านล้านบาท ที่ส่วนหนึ่งนำไปบริหารจัดการและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน ตลอดจนเยียวยากลุ่มคนเปราะบางที่ขาดรายได้จากสถานการณ์โควิด-19
จากสถานการณ์ดังกล่าว คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ ทางคณิตศาสตร์และสถิติ ร่วมกับบริบททางสังคมของประเทศไทย จึงได้โรดแมป ‘ลดหนี้สาธารณะ’ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานภาครัฐของไทย ผ่านการดำเนินงานใน 3 ระยะดังนี้
- ระยะสั้น การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หรือพิจารณาจากความคุ้มค่าในการก่อหนี้ โดยประเมินจากรายได้หรือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศในอนาคต ผ่านการจัดตั้งโครงการแก้หนี้เพื่อแก้หนี้ระยะสั้น
- ระยะกลาง การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางผู้ขาดรายได้เข้าถึงโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีที่รายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้มีรายได้ที่จะจ่ายภาษีและลดภาระการจ่ายเงินเยียวยาในกรณีที่ประชาชนไม่มีรายได้
ขณะที่รัฐก็มีรายได้มาใช้พัฒนาประเทศโดยไม่ต้องกู้ยืมหรือมีเงินใช้คืนหนี้ ผ่านการพัฒนาโครงการให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
- ระยะยาว การยกระดับศักยภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดแข็งของไทย ทั้งด้านการเกษตรและวัตถุดิบแต่ละท้องถิ่น ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สู่การรังสรรเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและนวัตกรรมอาหารที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากการส่งออกวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเพิ่มโอกาสการลงทุนของนักลงทุนในไทยในอนาคต
ขณะที่ ‘หนี้ครัวเรือน’ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 90 ในไตรมาสที่ 4/2565 เนื่องจากประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น จากสถิติปี 2563-2564 ที่พบว่าร้อยละ 34.3 เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น
และร้อยละ 65.7 เป็นหนี้เพื่อการลงทุนและสร้างรายได้ในอนาคต ทั้งอสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ และการลงทุนธุรกิจ จึงเป็นผลให้เกิดหนี้เสีย หรือสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL) จำนวนมาก
ล่าสุดหลังการปรับโครงสร้างหนี้ในไตรมาสที่ 1/2566 พบค่า NPL ลดลงมาอยู่ที่ 498.0 พันล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.68 แต่ทั้งนี้ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้าและมีหนี้สูง (ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2566)
นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ยังมีแนวทางสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างความมั่นคงทางการเงินระยะยาวแก่ภาคประชาชน สามารถแบ่งตามลำดับขั้นของการชีวิตได้ดังต่อไปนี้
ช่วงวัยเริ่มต้นทำงานจนถึงอายุ 35 ปี ช่วงวัยที่ต้องสร้างความมั่งคั่งพื้นฐานให้กับตัวเอง อาทิ การเก็บเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายส่วนตัวแต่ละเดือน เงินเก็บสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่หรือพัฒนาทักษะ สร้างเครดิตทางการเงินที่ดี ศึกษาการลงทุนเพื่อรองรับวัยเกษียณ ทยอยซื้อประกันให้ตัวเอง
ช่วงวัย 35-55 ปี ช่วงวัยแห่งการสะสมความมั่งคั่ง ที่ควรนำเงินเก็บไปลงทุนเพื่อสร้างให้งอกเงย ซื้อทรัพย์สินเป็นของตัวเอง เช่น บ้าน รวมทั้งการวางแผนเก็บเงินสำหรับครอบครัว นอกจากนั้นยังควรอัปเดตแผนการเงินสำหรับการเกษียณตัวเองว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นไปตามแผนหรือไม่ กรณีที่ไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้อาจจะต้องปรับแผนการลงทุนใหม่
ช่วงวัย 55-65 ปี ช่วงวัยที่วางแผนก่อนการเกษียณ ถือเป็นช่วงเวลาที่ผ่อนคลายหลังจากทำงานมายาวนาน จึงควรคำนวณค่าใช้จ่ายส่วนตัวรายเดือน หรือมองหางานเล็กๆ ทำเพื่อสร้างรายได้เสริมเพื่อแก้เบื่อ รวมถึงวางแผนระยะยาวสำหรับการเงินเพื่อดูแลสุขภาพของตัวเองในวัยเกษียณ
ช่วงวัยเกษียณ อายุ 65 ปีขึ้นไป ช่วงวัยที่พิจารณาเงื่อนไขในชีวิตที่มีอยู่พร้อมกับเงินที่สะสมมาทั้งชีวิต ดูแผนประกันชีวิตและประกันสุขภาพของตัวเอง เพื่อวางแผนพร้อมเงินสดที่มี
อย่างไรก็ดี นอกจากเงื่อนไขเรื่องอายุ ต้องพิจารณาการวางแผนทางการเงินให้สอดคล้องกับปัจจัยที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่น มีบุตรตอนอายุมาก หรือวางแผนเกษียณก่อนกำหนด
อย่างไรก็ดี ในยุคดิจิทัลเราจะพบวัยรุ่นสร้างตัวจำนวนมาก แต่กลับพบปัญหาเรื่องการออมเงิน ซึ่งสามารถแก้ไขได้ใน 3 ขั้นตอน ได้แก่
เป็นหนี้ให้น้อยที่สุด(เท่าที่จะทำได้) ควรมีเงินเหลือมากกว่าค่าใช้จ่าย และมีอัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ต่อเดือนไม่เกินร้อยละ 60 หรือต่ำกว่า
มีเงินเก็บสำหรับฉุกเฉิน ควรมีเงินเก็บฉุกเฉินจำนวน 6 เดือนขึ้นไป เพราะสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาหลายบริษัทมีการปลดพนักงานหรือปรับลดรายได้กระทันหัน
ลงทุนให้เป็น ปลดล็อกเพื่อความมั่งคั่งในอนาคต การเริ่มต้นลงทุนแบบง่ายๆ เช่น การซื้อกองทุนรวมในประเทศ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น โดยในกรณีที่มีเงินเริ่มต้นหรือยิ่งมีเงินลงทุนรายเดือนเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนก็จะมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังควรศึกษาเรื่องการจัดการภาษีเงินได้ส่วนบุคคล การลดหย่อนผ่านการบริจาค การซื้อกองทุนรวมเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายจากภาษี
รศ.ดร.วิชัย วิทยาเกียรติเลิศ
อย่างไรก็ดี แม้หนี้สาธารณะไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ด้วยประสบการณ์ในวิกฤตต้มยำกุ้งและมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่รัดกุมและเข้มแข็ง
แต่หากไทยสามารถทำให้หนี้ดังกล่าวลดลงได้ โดยอาจไม่จำเป็นถึงขั้น ‘ล้างหนี้’ ย่อมส่งผลดีต่อประเทศในหลากมิติ ทั้งต่อภาคประชาชนที่ไม่ต้องหมุนเวียนชำระหนี้ก้อนโต ภาคธุรกิจมีมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้น จากการมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน
รศ.วิชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางคณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ได้มีการปลูกฝังการวางแผนทางการเงินระยะยาว ผ่านการปรับทัศนคติการออมเงินด้วยสมการ ‘รายได้ - เงินออม = รายจ่าย’ กล่าวคือ “เก็บออมก่อนใช้” โดยเริ่มจากการออมขั้นต่ำ 10-20% ของรายได้
นอกจากนี้หากพิจารณาในกลุ่มคนเปราะบางของประเทศ อาทิ แรงงานค่าจ้างรายวัน ที่ปัจจุบันมี ‘อัตราค่าแรงขั้นต่ำ’ สูงสุดที่ 354 บาทต่อวัน เห็นควรปรับสมการการออมเงินแบบรายวัน ประมาณ 5-10% หรือคิดเป็นเงิน 17-35 บาท เพื่อให้มีเงินคงเหลือเพียงพอต่อการใช้จ่ายและมีเงินเก็บสะสมยามฉุกเฉิน
ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ขอร่วมเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนและร่วมหาทางออกหนี้สาธารณะของประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืน ผ่านการเรียนการสอนของสาขาคณิตศาสตร์และสถิติ ที่บูรณาการศาสตร์ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
เพื่อให้ผู้เรียนมีองค์ความรู้รอบด้าน และสามารถเรียนข้ามหลักสูตรกันได้ตรงตามความสนใจของตนเอง สามารถปรับตัวให้สอดคล้องความต้องการของสังคมและประเทศชาติ ตลอดจนตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต
โดยในสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ ได้พัฒนาหลักสูตรคณิตศาสตร์วิชาเอกคณิตศาสตร์ หลักสูตรคณิตศาสตร์วิชาเอกวิทยาการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ หลักสูตรคณิตศาสตร์ประยุกต์
หลักสูตรคณิตศาสตร์การจัดการ หลักสูตรสถิติวิชาเอกสถิติศาสตร์ หลักสูตรสถิติวิชาเอกวิทยาการวิเคราะห์ข้อมูล หลักสูตรวิทยาการประกันภัย ขึ้นใหม่
โดยมุ่งเน้นให้แต่ละหลักสูตรผลิตบัณฑิตที่มีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyzing) นำความรู้และเครื่องมือที่ได้ศึกษาในแต่ละหลักสูตรมาใช้ศึกษาปัญหาโลกจริงและนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ เพื่อเป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจผ่านการทำวิจัยในวิชาโครงงาน
เช่น ปัญหาด้านการจัดการโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าทางการเกษตรได้ ปัญหาด้านการเงินและการลงทุน การออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัย การออกแบบและกำหนดราคาสินทรัพย์ทางการเงิน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างเอกลักษณ์และความโดดเด่นที่แตกต่างแก่บัณฑิตที่จบจากที่นี่
นอกจากนี้ทางสาขาฯ ยังได้มีการบรรจุรายวิชาและกลุ่มรายวิชาที่ทันสมัยและมีผลกระทบสูงต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มรายวิชาทางจัดการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ กลุ่มรายวิชาทางด้านการวิเคราะห์ การวางแผนทางการเงินและการลงทุน การกำหนดราคาสินค้า
รวมถึงกลุ่มรายวิชาด้านการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่ออธิบายและแก้ปัญหาทางโลกจริงที่ซับซ้อน เป็นต้น
ทางสาขาฯ มุ่งเน้นให้บัณฑิตที่จบไปสามารถนำรายวิชาเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับการประกอบอาชีพของตนเองหรือแม้แต่การเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง เพื่อให้บัณฑิตที่จบไปในยุคเป็ดพรีเมียมมีรายได้สูงขึ้น สามารถก้าวพ้นกับดักรายได้น้อยและกำจัดปัญหาหนี้ครัวเรือนได้
และเพื่อสร้างบัณฑิตที่เป็นฟันเฟืองที่สำคัญในกลไกลขับเคลื่อนตลาดและเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจากผลสำรวจของคณะวิทย์ มธ. พบว่าบัณฑิตส่วนใหญ่มีงานทำในสายงานที่สนใจทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา.