รู้หรือไม่ 'แหน' สามารถดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อผลิต 'น้ำมันชีวภาพ' ได้
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า "แหน" ที่เห็นลอยอยู่บนผิวน้ำ สามารถดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อผลิต "น้ำมัน" ที่ถือเป็น "เชื้อเพลิงชีวภาพ" ได้ และผลิตได้สูงกว่าถั่วเหลือง 7 เท่า
จากข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า "แหน" ถือเป็นวัชพืชที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามที่หลายคนพบเห็นโดยทั่วไป ซึ่งนอกจากจะมีมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นได้ทั้งปุ๋ยหมัก และอาหารสำหรับสัตว์ แถมมีประสิทธิภาพในการใช้บำบัดน้ำเสียได้อีกด้วย
โดยอีกหนึ่งคุณสมบัติสำคัญ คือ เป็นพืชที่มีกรดไขมันอิสระอยู่อย่างสมบูรณ์ และยังสามารถดึงกรดไขมันที่ว่านี้ ไปสกัดเป็น "น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ" ได้ด้วย โดยผ่านกระบวนการดัดแปลงพันธุกรรม
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จาก Brookhaven ของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ได้ร่วมกับ Cold Spring Harbor Laboratory (CSHL) โดยคิดค้นการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากแหนเล็ก โดยการสร้างยีนขึ้นมาแล้วนำมาดัดแปลงกับพันธุกรรมของแหน เพื่อกระตุ้นการสังเคราะห์กรดไขมัน และดึงเอากรดไขมันเหล่านั้นออกมาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ และป้องกันการย่อยสลายของน้ำมัน ซึ่งผลการทดลองนี้ สามารถสะสมน้ำมันได้ถึง 10%
สำหรับกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากแหน โดยนักวิทยาศาสตร์ได้สร้างยีนที่ใช้สำหรับการดัดแปลงพันธุกรรมของแหนขึ้นมา 3 ตัว ได้แก่ W,D,O แต่ตัวจะมีคุณสมบัติดังนี้
ยีนที่ 1 W = Push “กระตุ้น”การสังเคราะห์กรดไขมันที่มีอยู่ในแหน
ยีนที่ 2 D = Pull “ดึง”กรดไขมันเหล่านั้นออกมาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ
ยีนที่ 3 O = Protect “ปกป้อง”การย่อยสลายของน้ำมัน โดยผลิตโปรตีนที่เป็นตัวเคลือบหยดน้ำมันในเนื้อเยื่อพืช
ทั้งนี้ ผลการทดลอง ปรากฏว่า แหนที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมจากยีนทั้ง 3 ตัว พบว่าสามารถสะสมกรดไขมันได้ 16% และผลิตน้ำมันได้ 8.7% นั่นหมายความว่า แหนที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรม สามารถสะสมน้ำมันได้ถึง 10% มากกว่า 100 เท่า ของระดับน้ำมันที่มีอยู่ในพืชชนิดอื่น ๆ และผลิตได้สูงกว่าถั่วเหลืองถึง 7 เท่า ซึ่งเป็นแหล่งไบโอดีเซลที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ ของแหน คือ พืชที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และเก็บเกี่ยวได้ง่าย ถือเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ และยังยืน นอกจากนี้ ยังสามารถบำบัดน้ำเสียให้กับโรงงานวิศวกรรม ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเกษตรเนื่องจากเป็นโรงงานผลิตน้ำมัน
ทั้งนี้ แม้การทดลองจะถือว่าเป็นผลสำเร็จ แต่ยังคงต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านคุณภาพปริมาณ และระยะเวลาในการผลิต เพื่อขยายผลจากห้องทดลองไปสู่ระดับอุตสาหกรรม
ข้อมูล : สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง