ส่งออกไทยทรุด ปีนี้หมดสิทธิ์ฟื้น หน่วยงานเศรษฐกิจ ชี้ปัจจัยการค้าโลกหดตัว
หน่วยงานเศรษฐกิจประเมินตัวเลขส่งออกปีนี้จ่อติดลบ หรือไม่ขยายตัว กกร.ให้กรณีที่่เลวร้ายที่สุดการส่งออกติดลบกว่า 2% ปริมาณการค้าโลกลดลง เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นเต็มที่
ปี 2566 ถือเป็นปีที่หนักหน่วงของภาคการส่งออกตัวเลขการส่งออกที่แถลงโดยกระทรวงพาณิชย์ติดลบทุกเดือน เมื่อวันที่ 26 ก.ค.การแถลงตัวเลขส่งออกของเดือน มิ.ย.ล่าสุดก็หดตัวลงไปถึง 6.4% ทำสถิติติดลบต่อเนื่อง 9 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 เหลืออีกแค่เพียง 3 เดือนก็จะครบหนึ่งปีเต็มที่การส่งออกติดลบ
อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ยังตั้งเป้าการทำงานในการผลักดันการส่งออกช่วงที่เหลือของปีให้ขยายตัวทดแทนการติดลบในช่วงที่ผ่านมาและหวังว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 1 – 2%
ทั้งนี้หากดูการคาดการณ์การส่งออกของหน่วยงานที่เป็นสำนักงานเศรษฐกิจต่างๆ เกือบทั้งหมดทุกหน่วยงานที่มีมุมมองว่าการส่งออกในปีนี้จะหดตัว จนถึงขยายตัวได้ 0% หรือในความหมายคือไม่ขยายตัวเลยเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา โดยหน่วยงานเศรษฐกิจที่คาดการณ์การส่งออกไทยในปีนี้ได้แก่
- สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะหดตัว 1.6% โดยมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยช่วงที่เหลือของปีนี้อยู่ที่เดือนละประมาณ 23,609 ล้านดอลลาร์
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะหดตัวเล็กน้อยที่ 0.1% โดยมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยช่วงที่เหลือของปีนี้อยู่ที่เดือนละประมาณ 24,328 ล้านดอลลาร์
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยปีนี้จะหดตัว 0.8% โดยมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยช่วงที่เหลือของปีนี้อยู่ที่เดือนละประมาณ 23,993 ล้านดอลลาร์
ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ที่ประกอบด้วยสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ครั้งล่าสุดคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้อยู่ที่ -2 ถึง 0% ซึ่งหมายความว่าในกรณีที่ดีที่สุดการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 0% ซึ่งก็คือไม่ขยายตัวเลย แต่ในกรณีที่แย่ที่สุดการส่งออกไทยในปีนี้อาจหดตัวได้ถึง 2% โดยมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยช่วงที่เหลือของปีนี้อยู่ที่เดือนละประมาณ 23,418 - 24,376 ล้านดอลลาร์
กกร.หั่นเป้าส่งออกรับเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย ทำหน้าที่ประธานกกร. เปิดเผยว่า กกร.ประจำเดือน ก.ค. 66 ยังคงกรอบประมาณการการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2566 โต 3% ถึง 3.5% แต่ปรับตัวเลขการส่งออกลดลงจากเดิม -1% ถึง 0% เป็น -2% ถึง 0% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลงมากในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
ตลาดหลักส่งออกไทยหดตัวทุกตลาด
ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบเป็นผลมาจากการชะลอตตัวของการส่งออกเนื่องจากปริมาณการค้าโลกที่หดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกมีแนวโน้มการฟื้นตัวได้อย่างจำกัด และเมื่อดูการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดต่างๆของโลกก็พบว่ายอดสะสม 6 เดือนที่ผ่านมาล้วนแต่ติดลบทั้งสิ้น เช่น ตลาดสหรัฐฯ – 3.6% จีน – 3.7% อาเซียน – 7.5% ญี่ปุ่น – 1.3% สหภาพยุโรป – 0.4%
ปัจจัยการค้าโลกปีนี้ชะลอตัวชัดเจน
ก่อนหน้านี้ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ว่ามีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีใน 2565 โดย สศช.คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัวได้ 2.7% ปรับตัวลดลงจากปีก่อนที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ 3.4%
ทั้งนี้สาเหตุที่เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะชะลอตัวลงมาจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการค้าในประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกที่ คงเผชิญกับแรงกดดันที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายข้อไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันทางด้านปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอนส่งผลต่อปริมาณการส่งออกและการค้าโลกด้วย
โดย สศช.คาดว่าปริมารณการค้าโลกในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 2.1% ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัวได้ 5.1% ซึ่งการที่ปริมาณการค้าโลกชะลอลงจากปีที่แล้วจะส่งผลต่อภาคการส่งออกทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย
โดย สศช.คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะหดตัวประมาณ 1.6% เมื่อคิดจากมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่การส่งออกขยายตัวได้ 4.2%
สำหรับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่และคู่ค้าของไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากในปีที่ผ่านมา หรืออยู่ในระหว่างฟื้นตัวกลับมาภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ สหรัฐฯที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 0.9% ขยายตัวลดลงจากปี 2565 ที่เศรษฐกิจขยายตัว 2.1% ส่วนประเทศในกลุ่มยูโรโซนคาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 0.5% เท่านั้น ลดลงจากปีก่อนที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3.5% ส่วนจีนคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ประมาณ 4.9% ขยายตัวเพิ่มจากปีก่อนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 1%
“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนในหลายเรื่อง รวมทั้งปริมาณการค้าโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ส่งผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทยที่มีการติดลบต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้แก้ไขปัญหาของภาคการส่งออกของไทยถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง”นายดนุชากล่าว