'GPSC' ลุย 'อินเดีย' ปูทางเป้าหมาย2030 เพิ่มสัดส่วนผลิตพลังงานหมุนเวียน
“GPSC” ลุยธุรกิจโรงไฟฟ้าสีเขียวใน “อินเดีย” ปูทางมุ่งสู่เป้าหมาย 2030 ในการเพิ่มสัดส่วนผลิตพลังงานหมุนเวียน
ภาระกิจพาบริษัทแม่คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สู่เป้าหมายระยะสั้นถึงระยะยาว มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2030 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 นี่คืองานสำคัญของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC
รสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า หากประเทศไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าก็จะกระทบต่อการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานแน่นอน โดยเฉพาะโครงการที่ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ต้องรอให้ กพช.อนุมัติ เพราะต้องอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน จึงอยากฝากรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะพรรคไหนเข้ามาบริหารประเทศก็อยากให้มีการเปิดไฟฟ้าเสรี
นอกจากจะทำให้ราคาค่าไฟถูกลงแล้ว ยังจะทำให้นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนเกิดความมั่นใจไม่ย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศอื่น ซึ่งตอนนี้ โดยเฉพาะอินเดีย เพราะรัฐบาลสนับสนุนเปิดประมูลอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดเงื่อนไขการประมูลในเรื่องของราคาเป็นหลัก เพราะค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในไทยยังสูงกว่าจีน อินเดีย และออสเตรเลีย ที่ทำราคาถูกกว่า โดยส่วนหนึ่งมาจากการได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลและมีพื้นที่การติดตั้งขนาดใหญ่พร้อมในการลงทุน
“หลายประเทศทั่วโลกต่างมุ่งไปสู่เรื่องการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเสรี เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันต้นทุนค่าไฟฟ้า และส่งผลให้ค่าไฟฟ้าถูกลง ซึ่งประเทศไทยเองในอนาคตก็ควรมุ่งไปที่ทิศทางดังกล่าวเช่นกัน แม้ว่าขณะนี้รัฐจะยังไม่เปิดเสรีด้านสายส่งไฟฟ้า แต่ GPSC ก็ได้ทดลองทำโครงการภายใต้ Sandbox ในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง และหวังว่า ในอนาคตประเทศไทย จะเกิดตลาดไฟฟ้าเสรี เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเลือกซื้อขายไฟฟ้าในราคาถูกได้ด้วยตัวเอง”
สำหรับการลงทุนที่อินเดีย บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ที่ GPSC ถือหุ้น 100% ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท อวาด้า เวนเจอร์ ไพรเวท จำกัด เพื่อลงทุนใน บริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด บริษัทในกลุ่มอวาด้า ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในประเทศอินเดีย
ทั้งนี้ GRSC เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 42.93% และยังได้ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจในกลุ่มอวาด้าให้ครอบคลุมธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันอวาด้ามีการเติบโตโดยชนะประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดียอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การเข้าร่วมทุนกับอวาด้ามีส่วนสำคัญต่อการขยายสัดส่วนกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของ GPSC ให้ได้ตามเป้าหมายมากกว่า 50% ในปี 2573 โดย GPSC ที่เข้าร่วมลงทุนกับอวาด้าด้วยมูลค่า 779 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมาซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลอินเดีย ที่ได้ประกาศวาระแห่งชาติ ให้มีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ที่มีเป้าหมายการผลิตพลังงานโดยไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ 500 กิกะวัตต์
สำหรับในปี 2566 นี้ กลุ่มอวาด้าสามารถชนะการประมูลโครงการเสนอราคาการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ จากโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต PLI (Production- Linked Incentive Scheme) เพื่อผลิตแผ่นเวเฟอร์ โซลาร์เซลล์ และโมดูล และยังชนะการประมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ 2.5 กิกะวัตต์ ซึ่งทำให้ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นมากกว่า 7 กิกะวัตต์ รวมทั้งบริษัท Brookfield ได้เข้ามาร่วมลงทุนมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ในกลุ่มอวาด้า เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไฮโดรเจน/แอมโมเนียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม GPSC มองการลงทุนพลังงานสะอาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการเติบโตสูง อย่าง อินเดีย จีน ออสเตรเลีย สหรัฐ ยุโรป ขณะที่เอเซียยังไม่น่าจะมีมากนัก โดยปัจจุบันมีการลงทุนที่ ไทย สปป.ลาว ส่วนเวียดนามที่ศึกษาความเป็นไปได้นานถึง 4 ปี พบว่า โครงการบางอย่างทำไม่ได้ เช่น ปัญหาที่ดิน
“การพับแผนที่เวียดนาม มาจากปัญหาในรื่องของที่ดินไม่ชัดเจน เราไม่สามารถเข้ามาเป็นเจ้าของได้ รวมถึงเมื่อเข้าไปทำดีลพบว่าข้อมูล บางโปรเจ็คต์ไม่มีแบบการก่อสร้าง ซึ่งเรายังหาพาร์ทเนอร์ที่ดี แต่หากเปรียบกับอินเดียที่เป็นเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของเราไปแล้ว"
ทั้งนี้ อินเดียมองอนาคตไฟจะไม่ดับในปี 2047 และปี 2030 บริษัทจะมีไฟสะอาด 11 กิกะวัตต์ จากแผนที่เห็นว่าอินเดียจะเปิดประมูลปีละ 50 กิกะวัตต์ เราเอาแค่ 5 กิกะวัตต์ หรือ 10% ก็ได้มาร์จิ้นเยอะแล้ว ซึ่งค่าไฟที่อินเดียเฉลี่ยอยู่ที่ 1.50 บาทต่อหน่วย ถือว่าถูกกว่าประเทศไทยที่ค่าไฟเฉลี่ย 4 บาท ดังนั้น แค่ขายไฟคนมีเงินในอินเดียปัจจุบัน 400 ล้านคน หรือ 30% ของคนทั้งประเทศ ก็เพียงพอแล้ว
ปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 3,629 เมกะวัตต์ คิดเป็น 45% ของกำลังการผลิตรวม โดยตั้งเป้าปี 2030 จะมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่ 12 กิกะว้ตต์ ถือเป็นไปตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานเพื่อความยั่งยืน และได้กำหนดทิศทางการเติบโตของธุรกิจ เพื่อก้าวสู่การเป็นหนึ่งในบริษัทนวัตกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้