BOI เมินปัจจัยการเมือง ชี้โมเมนตัมลงทุนเติบโตอีก 2-3 ปี
บีโอไอชี้โอกาสทองลงทุนไทย รับเทรนด์ย้ายฐานการผลิต แนะเร่งเตรียมความพร้อมคนและอีโคซิสเต็มรับโมเมนตัมลงทุนอีก 2-3 ปีข้างหน้า โฟกัสดึง 5 อุตฯ อนาคต เชื่อมโยงซัพพลายเชนผู้ประกอบการในประเทศ หนุนตั้งศูนย์กลางธุรกิจในไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นหนึ่งในปีทองการลงทุนของไทย จากแนวโน้มการลงทุนในครึ่งปีแรกที่มีทิศทางบวก โดยมีโครงการยื่นขอส่งเสริมการลงทุน 891 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 18% เป็นเงินลงทุนกว่า 364,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% โดยเป็นการลงทุนใน 3 กลุ่มหลักที่ขยายตัวโดดเด่น ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรและอาหาร และยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ ที่ขยายตัวมากขึ้น ได้แก่ ไบโอเทคโนโลยี การแพทย์ ดิจิทัล และอากาศยาน
ทั้งนี้ แนวโน้มการลงทุนยังมีโมเมนตัมที่จะเติบโตได้อีกในระยะ 2-3 ปี โดยปัจจัยหลักของเงินลงทุนโดยตรงที่จะไหลเข้ามาในไทย ประกอบด้วย ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตที่สูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิากาศ ซึ่งหลายบริทัษตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงเรื่องกติกาภาษีใหม่โลก หรือ Global Minimum Tax ซึ่งจะทำให้มาตรการจูงใจทางภาษีมีผลน้อยลง
โดยปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้เกิด 3 เทรนด์การลงทุนใหม่ ได้แก่ เทรนด์การย้ายฐานผลิตและการกระจายความเสี่ยงการลงทุนเทรนด์การลงทุนสีเขียว และการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ออโตเมชั่น และการผลิตอัจฉริยะ
“นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเจรจากับบีโอไอต่างพูดคุยถึงประเด็นเหล่านี้ ซึ่งไทยเองได้รับความสนใจและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนด้วยปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซัพลายเชน มาตรการส่งเสริมลงทุนจากภาครัฐ ตลาดในประเทศ รวมถึงความมั่งคงปลอดภัยและศักยภาพในการฟื้นตัวได้ดี”
ทั้งนี้ ก็ยังมีปัจจัยอีกหลายด้านที่ไทยจะต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ไทยมีความโดดเด่นและคว้าโอกาสดึงดูดการลงทุนใหม่ๆโดยเฉพาะการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ได้แก่ การพัฒนาทักษะแรงงานต้องทั้งสร้างเองและเปิดปรตูให้กว้างเพื่อต้อนรับคนเก่งๆ ด้านการเจรจาการค้าเปิดตลาดไทยให้กว้างที่สุด การเตรียมพลังงานสะอาดสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพิ่มความง่ายในการลงทุน และเร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีให้เดินหน้าต่อ รวมทั้งกระจายลงทุนไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศตามแผน
ขณะเดียวกันบีโอไอเองมีการปรับกลยุทธ์การทำงานเช่นกัน โดยจะผลักดันให้เกิดการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า ซึ่งไทยมีฐานการลงทุนและมีโอกาสต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรม BCG, ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี), สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างอีโคซิสเต็มและระบบหลังบ้านให้พร้อม เพื่อผลักดันไทยเป็นที่ตั้งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงาน (Talent Hub) รวมทั้งสร้างการยกระดับและความเชื่อมโยงซัพพลายเชนไทยกับผู้ผลิตระดับโลก
ล่าสุด บีโอไอร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (ซับคอน) และ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เตรียมจัดงาน MIRA (Maintenance, Industrial Robotics and Automation) และ SUBCON EEC 2023 ต่อยอดความสำเร็จจากปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ 2 ระหว่างวันที่ 6-8 ก.ย. 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช พัทยา จังหวัดชลบุรี
ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าและบริการครบวงจรที่รวมเอาเทคโนโลยีด้านการบำรุงรักษาของภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยีหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระบบอัตโนมัติ และโซลูชันอุตสาหกรรมจากแบรนด์ชั้นนำ พร้อมการแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรม และเวทีเจรจาจับคู่ธุรกิจที่ครบวงจรที่สุดในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตและธุรกิจบริการไทยให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และระบบการผลิตอัจฉริยะโดยภายในงาน จะมีบริษัทมาร่วมแสดงสินค้ากว่า 150 ราย ผู้ซื้อรายใหญ่กว่า 100 ราย การจับคู่เจรจาธุรกิจกว่า 600 คู่ ซึ่งจะสร้างมูลค่าการเชื่อมโยงธุรกิจกว่า 2,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 5,000 คน
“บีโอไอเห็นว่าการผลักดันให้ผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศ เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลกเป็นยุทธศาสตร์สำคัญโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่มีคุณภาพและมาตรฐานสากล ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยบีโอไอได้ร่วมกับองค์กรพันธมิตร เดินหน้าจัดกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมและจับคู่เจรจาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย กล่าวว่า โครงการลงทุนจำนวนมากกำลังเกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี จึงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยในการเชื่อมโยงคู่ค้ากับนักลงทุนใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งของงาน Subcon Thailand ที่จัดต่อเนื่องกว่า 17 ปี และการขยายผลการจัดงาน Subcon EEC ที่เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมาและได้รับผลตอบรับที่ดีมากโดยสมาชิกมากกว่า 90% ได้ร่วมจัดแสดงถือเป็นเครื่องการันตีความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจร่วมกับซัพพลายเออร์และพาร์ทเนอร์คนไทยได้เป็นอย่างดี
โดยทางสมาคมมั่นใจว่าการจัดงาน SUBCON EEC 2023 จะเป็นอีกกุญแจที่สำคัญในการเชื่อมโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทยพร้อมรับต่อการเปลี่ยนผ่านด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่จะเป็นเรือธงในการยกระดับพื้นที่เขตเศรษฐกิจแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค