จีไอทีนำผลงานวิจัยอัญมณีฯโชว์ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติปี 66
จีไอทีนำผลงานวิจัยด้านอัญมณีและเครื่องประดับโชว์ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ทั้งการพิสูจน์แหล่งกำเนิดอัญมณีทับทิม การพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการ มาตรฐานสินค้าอัญมณี และร่วมถ่ายทอดความรู้เรื่องหยก เทคนิคการซื้อ
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที( GIT) เปิดเผยว่า GIT ได้เข้าร่วมงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยได้นำผลงานวิจัยด้านอัญมณีและเครื่องประดับที่โดดเด่น ผลงานวิจัยการพิสูจน์แหล่งกำเนิดอัญมณีทับทิม โดยใช้เอกลักษณ์ทางเคมี เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย และการพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการและมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อสร้างความมั่นใจในการซื้อขายในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ และโครงการฐานข้อมูลอัจฉริยะแหล่งอัญมณีโลก (มรกต) เป็นต้น มาจัดแสดงให้กับผู้ที่สนใจ
ทั้งนี้ ยังได้เปิดเวทีเสวนานำเสนอเรื่อง “Gem Exploration the Series : the attraction of jade ท่องโลกอัญมณี เดอะซีรีย์ : มนต์เสน่ห์หยก” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องราวของหยกในโลกของแห่งอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งได้รวบรวมคุณสมบัติต่าง ๆ ของหยก ตลอดจนเทคนิคการเลือกซื้อหยก อัญมณีเลียนแบบหยกชนิดต่าง ๆ
อีกทั้งยังได้นำเสนอผลงานการวิจัยเพื่อหาข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของหยก รวมถึงมาตรฐานการตรวจสอบหยก เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงาน ที่มีความสนใจในหยก ได้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถเลือกซื้อหยกได้อย่างมั่นใจ อีกทั้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก
สำหรับ GIT เป็นหน่วยงานเฉพาะทางที่มีเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย และหนึ่งในพันธกิจหลักที่สำคัญ คือ การวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับอย่างครบวงจรและสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ โดยงานวิจัยและพัฒนาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้และแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานเพื่อให้สถาบันสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีพันธกิจที่จะต้องดำเนินการ เช่น ด้านวิเคราะห์ ตรวจสอบ จัดระดับชั้น สร้างมาตรฐาน และการรับรองคุณภาพสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ จะต้องมีผลจากงานวิจัย ด้านเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ ด้านแหล่งกำเนิด และหรือด้านการปรับปรุงคุณภาพอัญมณี มาสนับสนุนการวิเคราะห์ เพื่อให้สถาบันสามารถออกใบรับรองคุณภาพอัญมณีได้อย่างถูกต้องแม่นยำและได้รับการยอมรับจากตลาด ส่งผลให้เกิดการค้าขายที่เป็นธรรม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย และส่งผลต่อเนื่องทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกและทำรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มขึ้น
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาผลงานวิจัยของสถาบันได้ที่ https://elibrary.git.or.th/ หรือเข้ามาที่ชั้น 1 ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์–ศุกร์ เวลา 08.30–16.30 น.