‘บีโอไอ’ เร่งแผนดึงลงทุน ลุย 5 อุตฯพลิกเศรษฐกิจ
“บีโอไอ” เตรียมแผนดึงลงทุนเสนอรัฐบาลใหม่ โฟกัส 5 อุตสาหกรรมอนาคต เชื่อมโยงซัพพลายเชนผู้ประกอบการในประเทศ หนุนตั้งศูนย์กลางธุรกิจในไทย มั่นใจโอกาสทองลงทุนไทย รับเทรนด์ย้ายฐานการผลิต แนะเร่งเตรียมความพร้อมคนและอีโคซิสเต็มรับโมเมนตัมลงทุนอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีโครงการยื่นขอส่งเสริมการลงทุน 891 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18% รวมเป็นเงินลงทุนกว่า 364,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% โดยประเทศไทยอยู่ในช่วงจัดตั้งรัฐบาลและทำให้หลายห่วยงานกำลังเตรียมแผนงานเพื่อเสนอรัฐบาลใหม่
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ปี 2566 เป็นหนึ่งในปีทองการลงทุนของไทย จากแนวโน้มการลงทุนในครึ่งปีแรกที่มีทิศทางบวก โดยคำขอส่งเสริมการลงทุนยังขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการลงทุนใน 3 กลุ่มหลักที่ขยายตัวโดดเด่น ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรและอาหาร และยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นที่ขยายตัวมากขึ้น ได้แก่ ไบโอเทคโนโลยี การแพทย์ ดิจิทัลและอากาศยาน
ทั้งนี้ แนวโน้มการลงทุนยังมีโมเมนตัมเติบโตได้อีกในระยะ 2-3 ปี โดยปัจจัยหลักของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่จะไหลเข้ามาในไทย ประกอบด้วย ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตที่สูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหลายบริทัษตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ตัดสินใจลงทุน เปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงเรื่องกติกาภาษีใหม่โลก หรือ Global Minimum Tax ซึ่งจะทำให้มาตรการจูงใจทางภาษีมีผลน้อยลง
โดยปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้เกิด 3 เทรนด์การลงทุนใหม่ ได้แก่ เทรนด์การย้ายฐานผลิตและการกระจายความเสี่ยงการลงทุนเทรนด์การลงทุนสีเขียว และการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ออโตเมชั่น และการผลิตอัจฉริยะ
“นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเจรจากับบีโอไอต่างพูดคุยถึงประเด็นเหล่านี้ ซึ่งไทยเองได้รับความสนใจและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนด้วยปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชน มาตรการส่งเสริมลงทุนจากภาครัฐ ตลาดในประเทศ รวมถึงความมั่งคงปลอดภัยและศักยภาพในการฟื้นตัวได้ดี”
ทั้งนี้ ก็ยังมีปัจจัยอีกหลายด้านที่ไทยจะต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ไทยมีความโดดเด่นและคว้าโอกาสดึงดูดการลงทุนใหม่โดยเฉพาะการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ได้แก่ การพัฒนาทักษะแรงงานต้องทั้งสร้างเองและเปิดปรตูให้กว้างเพื่อต้อนรับคนเก่งๆ ด้านการเจรจาการค้าเปิดตลาดไทยให้กว้างที่สุด การเตรียมพลังงานสะอาดสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพิ่มความง่ายในการลงทุน และเร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีให้เดินหน้าต่อ รวมทั้งกระจายลงทุนไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศตามแผน
เร่งเตรียมแผนเสนอรัฐบาลใหม่
รายงานข่าวจากบีโอไอ ระบุว่า บีโอไอเตรียมแผนการดึงการลงทุนเพื่อเสนอรัฐบาลใหม่ โดยจะเป็น Thailand’s Next Step ที่ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี เพื่อสนับสนุนการสร้างอีโคซิสเต็มที่ดีสำหรับการลงทุนในประเทศไทย เช่นการปรับปรุงความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of doing business) รวมทั้งเตรียมแผนการโรดโชว์เพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น รวมถึงสหรัฐด้วย
นอกจากนี้ บีโอไอได้วางแผนการดำเนินงาน 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจและความสามารถระดับนานาชาติ 2.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และการยกระดับสู่ความเป็นอัจฉริยะและความยั่งยืน 3.การส่งเสริมการลงทุนตามพื้นที่ 4.กติกาภาษีใหม่โลก หรือ Global Minimum Tax ซึ่งจะทำให้มาตรการจูงใจทางภาษีมีผลน้อยลง ซึ่งทำให้ต้องปรับเครื่องมือส่งเสริมการลงทุน
โฟกัสดึงลงทุน 5 อุตสาหกรรม
5.การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายในการดึงการลงทุน 5 กลุ่ม ที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา (2563-2565) มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 680,000 ล้านบาท และมีแผนที่ปรับกลยุทธ์การทำงาน ดังนี้
BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน287,799 ล้านบาท โดยจะผลักดันไบโอคอมเพล็กซ์ในแต่ละภูมิภาค พลังงานหมุนเวียน การแปรรูปขยะเป็นผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีสีเขียว
EV หรือ ยานยนต์ไฟฟ้า ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 78,064 ล้านบาท โดยการส่งเสริมการลงทุนนับจากนี้จะส่งเสริมผู้เล่นที่มีอยู่และใหม่ รวมทั้งผลักดันแพ็คเกจ EV 3.5 การสร้างระบบนิเวศ EV ทั้งแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ การชาร์จ และพัฒนาซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
Smart Electronics ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 210,386 ล้านบาท โดยจะส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำเช่น Wafer fabrication การออกแบบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ การวิจัยและพัฒนา อิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งจะมีการสร้างอีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่รองรับการลงทุนและบุคลการระดับTalents
Digital ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 60,857 ล้านบาท โดยจะส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น Data Center , Cloud service รวมทั้งส่งเสริมการสร้างอีโคซิสเต็ม เช่น Innovation Park, Maker Space, Incubators, Academy และส่งเสริมกิจกรรมดิจิทัล เช่น ซอฟต์แวร์ , แพลตฟอร์มดิจิทัล , ดิจิทัลคอนเทนต์
Creative ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 52,814 ล้านบาท โดยจะโฟกัสกลุ่มที่มีศักยภาพสูง เช่น ภาพยนตร์ , เกม , แอนิเมชั่น , อัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งส่งเสริมเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์
นอกจากนี้จะมีแนวทางการส่งเสริมการตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามชาติในไทย (IHQ) และการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต
รวมทั้ง บีโอไอมุ่งสร้างอีโคซิสเต็มและระบบหลังบ้านให้พร้อม เพื่อผลักดันไทยเป็นที่ตั้งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงาน (Talent Hub) รวมทั้งสร้างการยกระดับและความเชื่อมโยงซัพพลายเชนไทยกับผู้ผลิตระดับโลก
ดันไทยอยู่ซัพพลายเชนโลก
นายนฤต์ กล่าวว่า บีโอไอจะผลักดันให้ผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลกเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่มีคุณภาพและมาตรฐานสากล ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยบีโอไอได้ร่วมกับองค์กรพันธมิตรเดินหน้าจัดกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมและจับคู่เจรจาธุรกิจต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บีโอไอร่วมกับพันธมิตรจัดงาน SUBCON EEC 2023 ในวันที่ 6-8 ก.ย. 2566 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช พัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อรวมเทคโนโลยีด้านการบำรุงรักษาของภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ และโซลูชันอุตสาหกรรมจากแบรนด์ชั้นนำ
รวมทั้งแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและเวทีเจรจาจับคู่ธุรกิจเพื่อสนับสนุนภาคการผลิตและธุรกิจบริการไทยให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และระบบการผลิตอัจฉริยะ