เชื่อมั่นอุตสาหกรรมต่ำสุดรอบ 10 เดือน ตั้งรัฐบาลช้า - ส่งออกทรุด ฉุดดัชนี
"สอท." แถลงดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ก.ค. 66 อยู่ที่ 92.3 ปรับตัวลงต่ำสุดรอบ 10 เดือน จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกกดดันภาคส่งออก ชี้ปัจจัยการเมืองฉุดเชื่อมั่นภาคธุรกิจหลังตั้งรัฐบาลช้า "ส.อ.ท."แนะ 4 ข้อรัฐบาลเร่งดำเนินการฟื้นเชื่อมั่นเศรษฐกิจ
วันนี้ (16 ส.ค.) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงข่าวรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน ก.ค. 2566 ว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ92.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 94.1 ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน โดยเป็นการปรับตัวของดัชนีที่ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงในทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ รวมทั้งผลประกอบการที่ลดลง โดยมีปัจจัยหลักๆคือปัญหาที่มาจากทั้งปัจจัยในประเทศ และภายนอกประเทศ
โดยปัจจัยภายในประเทศคือปัจจัยในเรื่องของหนี้ครัวเรือน และค่าครองชีพของประชาชนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งปัจจุบันหนี้ครัวเรือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการรวมหนี้ใหม่ ในส่วนของหนี้สหกรณ์ และหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เข้ามาด้วยทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มเป็น 90.6% ของจีดีพี แต่จำนวนนี้ยังไม่รวมหนี้นอกระบบอีก 19.6% ซึ่งทำให้หนี้ครัวเรือนที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 110% ทำให้กดดันให้กำลังซื้อในประเทศลดลง
ขณะเดียวกันคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ทำให้ต้นทุนทางการเงินของประชาชน และภาคธุรกิจสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้เศรษฐกิจของไทยยังได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า และยังไม่เห็นความชัดเจนว่าภายในเดือน ส.ค.นี้จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่
"หากการตั้งรัฐบาไม่ทันเดือน ส.ค.จะกระทบกับไทม์ไลน์การดำเนินธุรกิจของเอกชน ที่ส่วนใหญ่ให้ไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาลภายในเดือน ส.ค.ในการวางแผนธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ซึ่งหากยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็จะเกิดผลกระทบต่อเนื่องในการทำธุรกิจ ซึ่งยิ่งช้าถือว่าไม่เกิดผลดี"
ส่วนปัจจัยภายนอกเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางมาก โดยประเทศที่เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในเอเชีย คือเศรษฐกิจจีนถือว่ามีความเปราะบางโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีปัญหาทำให้เศรษฐกิจภายในจีนชะลอตัวลงมากกระทบกับภาคการส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งการส่งออกของประเทศไทยที่หดตัวกว่า 9 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกในการสำรวจความเห็นเรื่องดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมได้แก่ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่ทำให้รายได้ของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อมมีเพิ่มขึ้น ช่วยพยุงการใช้จ่ายและอุปโภค บริโภคภายในประเทศ
สำหรับดัชนีคาดการณ์ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยอยู่ที่ 100.2 ใกล้เคียงกับในเดือน มิ.ย.ที่อยู่ที่ 102.1 ซึ่งถือว่าลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยการปรับลดลงของดัชนีคาดการณ์ 3 เดือน มาจากปัจจัยทางการเมือง การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ทำให้มีความกังวลว่าจะมีความไม่ต่อเนื่องในนโยบายเศรษฐกิจ
ขณะที่ต้นทุนการผลิตก็มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น เช่น ราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า และค่าจ้างแรงงาน ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และสภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง
ทั้งนี้เมื่อจำแนกผลสำรวจออกเป็นรายอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง แต่ยังสูงกว่า 100 ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น โรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเลียม ผู้ผลิตไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และอะลูมิเนียม ส่วนอุตสาหกรรมที่มีค่าความเชื่อมั่นลดลงและมีค่าดัชนีต่ำกว่า 100 เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม หนังและผลิตภัณฑ์หนัง เซรามิก โรงเลื่อยและแปรรูปไม้ ปิโตรเคมี ก๊าซ พลาสติก และน้ำมันปาล์ม เป็นต้น
ส่วนอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น และมีค่าดัชนีมากกว่า 100 ได้แก่ ยานยนต์ และชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม ยา ดิจิทัล เครื่องสำอาง และผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ ส่วนอุตสาหกรรมที่ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นแต่ค่าดัชนีต่ำกว่า 100 เช่น รองเท้า เหล็ก ปูนซีเมนต์ พลังงาน และอุปกรณ์ แกรนิต และหินอ่อน เฟอร์นิเจอร์ สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น
“ปีนี้เรื่องของภาคการส่งออกไม่ดี ที่โชคดีก็คือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหากในปีนี้ได้การท่องเที่ยวกลับมา 28 – 30 ล้านคนก็จะดีต่อสภาพเศรษฐกิจมาก ซึ่งขณะนี้ธุรกิจรายย่อยจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีความกังวลอยู่มากจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และกำลังซื้อที่ลดลง”
นายเกรียงไกรกล่าวว่า สอท.มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล และภาคการเมืองเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ 4 ข้อ ได้แก่
1. เร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วและออกนโยบายฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ
2. เร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาระต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินและลดความเสี่ยงการเป็นหนี้เสีย (NPL)
3. ขอให้ใช้กลไกของทูตพาณิชย์ในการเจรจาเร่งจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) และลดปัญหาอุปสรรดทางการค้าทั้งมาตรการที่เป็นภาษี และไม่ใช่ภาษีรวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริม การค้าแบบมุ่งเป้าไปยังกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ เช่นกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf (Cooperation Council) หรือกลุ่มประเทศ GCC
ที่เป็นตลาด ส่งออกที่ยังขยายตัวเป็นบวกได้ดีอยู่ในปีนี้ รวมทั้งกลุ่ม ลาตินอเมริกา เอเชียใต้ เป็นตัน เพื่อช่วยขยายโอกาสทางการค้าและสนับสนุนภาคการส่งออก
และ 4.ขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะโครงการลงทุนต่างๆ ที่ยังค้างท่อ เพื่อช่วยกระตุ้น และพยุงเศรษฐกิจในช่วงนี้