‘พลังงาน’ ลุยขุมทรัพย์ปิโตรฯ เสนอรัฐบาลใหม่เปิดสัมปทานรอบ 25
“พลังงาน” ลุยขุมทรัพย์ปิโตรเลียม เล็งเสนอรัฐบาลใหม่เปิดยื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 25 ประมูลแปลงบนบก 9 แปลง หวังเพิ่มการใช้งาน
การจัดหาแหล่งปิโตรเลียมเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ โดยคาดการณ์ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติระยะยาว (2561-2580) จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 0.7% และคาดว่าปี 2580 จะอยู่ที่ระดับ 5,348 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยขณะได้มีการเตรียมเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบก ครั้งที่ 25
รวมทั้งรัฐบาลที่ผ่านมาได้เริ่มเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา โดยพรรคเพื่อไทยที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล ได้กำหนดนโยบายเร่งพื้นที่ทับซ้อน เพื่อให้ได้แหล่งก๊าซธรรมชาติราคาถูก และสร้างรายได้ให้ภาครัฐจากค่าภาคหลวง
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก ครั้งที่ 25 จะครอบคลุมพื้นที่ 9 แปลง คือ บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แปลง และบริเวณพื้นที่ภาคกลางจำนวน 2 แปลง ซึ่งได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2566
รวมทั้งขณะนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ดำเนินการศึกษารายละเอียดในเชิงลึกของพื้นที่ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อย่างต่อเนื่องถึงแนวทางในการเปิดสำรวจ โดยพื้นที่ปิโตรเลียมดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ และพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จึงได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน
สำหรับพื้นที่ที่จะเปิดประมูลครั้งนี้อาจเลือกพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาก่อน เพื่อให้ไทยมีทรัพยากรมาบริหารจัดการ ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และลดผลกระทบจากการนำเข้าพลังงานที่มีราคาสูง ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ จะต้องนรอนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลใหม่ ที่อยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลเป็นผู้พิจารณาลงนามในร่างประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 9 แปลงดังกล่าว เพื่อเข้าสู่กระบวนการประกาศเชิญชวนผู้ที่มีความสนใจในการลงทุน
“การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมพื้นที่ดังกล่าว จะสร้างความต่อเนื่องในการจัดหาปิโตรเลียม ที่ปัจจุบันจะเริ่มมีปริมาณน้อยลง เพื่อให้เพิ่มขึ้นและเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ ทดแทนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ส่วนหนึ่ง เพราะราคาพลังงานนำเข้าจะสูงกว่ามาก ช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ และยังทำให้เกิดการจัดสรรรายได้แก่ท้องถิ่นด้วย” นายสราวุธ กล่าว
นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เตรียมแผนการเปิดประมูลมาต่อเนื่อง เพราะเป็นเป้าหมายที่จะดำเนินการเร็วที่สุด ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนเม็ดเงินที่จะเกิดการลงทุนช่วงการสำรวจรอบที่ 25 จะมีมูลค่าไม่น้อย
รอ รมว.พลังงานเซ็นเปิดประมูล
รายงานข่าวจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณาลงนามร่างประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงบนบกรอบที่ 25 ซึ่งจะต้องเสนอผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่พิจารณา โดยพื้นที่สำรวจแบ่งได้ดังนี้
1. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แปลง รวมพื้นที่ 25,520 ตารางกิโลเมตร 2.ภาคกลาง 2 แปลง รวมพื้นที่ 7,924 ตารางกิโลเมตร
สำหรับการประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 ได้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ได้รับสิทธิแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย 2 แปลง คือ แปลงหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 19,515 ตารางกิโลเมตร
ส่วนบริษัทเชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสิทธิแปลงสำรวจในอ่าวไทยหมายเลข G2/65 พื้นที่ 15,030 ตารางกิโลเมตร
นอกจากนี้ การสำรวจปิโตรเลียมครั้งที่ 24 ทำให้เกิดการลงทุนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในช่วงสำรวจ 6 ปี เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท รวมทั้งได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในไทย 640 ล้านบาท และหากพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้จะสร้างรายได้จากค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมที่เป็นกำไร
นายสราวุธ กล่าวถึงการเพิ่มกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณว่า ได้ทำการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามแผนตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2566
พร้อมกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2566 และที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือน เม.ย.2567 เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมจากแปลงเอราวัณกลับมามีอัตราการผลิตสูงสุดในอ่าวไทยอีกครั้ง จะส่งผลให้ช่วยลดต้นทุนและปริมาณการนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศที่มีราคาแพงมาผลิตไฟฟ้า ช่วยลดความผันผวนของภาระค่าไฟฟ้า และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เศรษฐกิจและสังคม