จีน จ่อดัน BRICS  เป็น ‘ศัตรู’ กับ G7 แม้ อินเดีย ปฏิเสธ ‘เสียงแข็ง’ 

จีน จ่อดัน BRICS  เป็น ‘ศัตรู’ กับ G7 แม้ อินเดีย ปฏิเสธ ‘เสียงแข็ง’ 

จีนจ่อดันให้กลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือ BRICS เป็นคู่แข่งโดยตรงทางภูมิรัฐศาสตร์กับ G7 แม้อินเดียปฏิเสธเสียงแข็ง ชี้ BRICS ควรเป็นกลุ่มที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น 

สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) รายงานวันนี้ (21 ส.ค.)  ว่า จีนจะผลักดันให้กลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือ BRICS  ของตลาดเกิดใหม่กลายเป็นคู่แข่งอย่างเต็มรูปแบบกับ (Full-scale Rival) กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 ในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้นำจากทั่วโลกของประเทศกำลังพัฒนารวมตัวกันเพื่ออภิปรายในฟอรัมการสนทนาที่ใหญ่ที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ

โดยแหล่งข่าววงในของไฟแนนเชียลไทมส์ ระบุว่า ประธานาธิบดีซีริล รามาโฟซา (Cyril Ramaphosa) ของแอฟริกาใต้เชิญประมุขแห่งรัฐและรัฐบาลมากกว่า 60 คนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) ตั้งแต่วันพุธ ซึ่งอาจมีหลายประเทศได้รับเชิญให้เข้าร่วมกลุ่ม BRICS ซึ่งสมาชิกตั้งต้นประกอบด้วย บราซิล (B) รัสเซีย (R) อินเดีย (I) จีน (C) และแอฟริกาใต้ (S) 

 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวคนดังกล่าว ระบุเพิ่มเติมว่า นิวเดลีมีขัดแย้งกับปักกิ่งเกี่ยวกับการขยายขอบเขตอำนาจ โดยความตึงเครียดปรับตัวพิ่มขึ้นจากประเด็นที่ว่ากลุ่ม BRICS ควรเป็นกลุ่มที่  “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ” ของประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น หรือเป็น “กองกำลังทางการเมือง” ที่ท้าทายตะวันตกอย่างเปิดเผย 

ด้าน เจ้าหน้าที่จีนรายหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยนามกล่าว

“หากเราขยายกลุ่ม BRICS ให้ใหญ่โตจนคิดเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลก เช่นเดียวกับกลุ่ม G7 เสียงส่วนรวมของเราในโลกก็จะแข็งแกร่งขึ้น” 

ขณะที่ นาเลดี แพนดอร์ (Naledi Pandor) รัฐมนตรีต่างประเทศของแอฟริกาใต้ กล่าวในเดือนนี้ว่า "คิดผิดอย่างยิ่ง" ที่มองว่าการขยายตัวของ BRICS ในครั้งนี้ที่อาจรวมประเทศอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม เป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านตะวันตก 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มพันธมิตรตะวันตกก็มีแนวโน้มที่จะมองว่า การที่อิหร่าน เบลารุส และเวเนซุเอลาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งนั้น เป็นการแสดงตนว่าอยู่ฝั่งรัสเซีย-จีน