ท่องเที่ยว ธุรกิจฟื้น ดันยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือน ก.ค.กว่า 6 พันราย
พาณิชย์ เผย บริษัทตั้งใหม่ ก.ค.66 มีจำนวน 6,848 ราย เพิ่ม 16.90% เป็นยอดตั้งใหม่เฉพาะเดือนสูงสุดในรอบ 10 ปี ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ทุนจดทะเบียน 16,648.21 ล้านบาท ผลจากภาคการท่องเที่ยว-ธุรกิจที่เกี่ยวข้องโตต่อเนื่อง จับตาธุรกิจBCG มาแรง สอดรับนโยบายรัฐ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ประจำเดือน ก.ค.2566 ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 6,848 ราย ลดลง 10.20% เมื่อเทียบกับ มิ.ย.2566 และเพิ่มขึ้น 16.90% เมื่อเทียบกับ ก.ค.2565 มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 16,648.21 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร
สำหรับธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 1,867 ราย เทียบกับ มิ.ย.2566 เพิ่ม 12.54% เทียบกับ ก.ค.2565 เพิ่ม 21% มีมูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ 7,527.92 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร
ปัจจุบันมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ วันที่ 31 ก.ค.2566 จำนวน 886,796 ราย มูลค่าทุน 21.47 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 203,802 ราย คิดเป็น 22.98% บริษัทจำกัด จำนวน 681,581 ราย คิดเป็น 76.86% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,413 ราย คิดเป็น 0.16% ตามลำดับ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ภาพรวมการจัดตั้งธุรกิจในเดือนก.ค. 2566 มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในเดือนก.ค. 2566 เป็นการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุดในรอบ 10 ปี ของเดือนก.ค. 2557 - 2566 และสูงสุดในรอบ 10 ปี เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน (ม.ค. - ก.ค. 66)
ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการจดทะเบียนธุรกิจให้เติบโตสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งมาจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย 7 เดือนแรก ปี 2566 มีจำนวนการจดจัดตั้งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 71.45% เช่น ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเติบโต 2.18 เท่า, ตัวแทนธุรกิจการเดินทางเติบโต 1.58 เท่า, ธุรกิจจัดนำเที่ยวเติบโต 1.32 เท่า, ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารเติบโต 53.32% และ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และห้องชุดเติบโต 45.06% มีสัดส่วนคิดเป็น 7.94% ของจำนวนธุรกิจที่จัดตั้งทั้งหมดใน 7 เดือนแรก ปี 2566
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจน่าจับตามองที่เติบโตกว่า 1 เท่า จากช่วงเดียวกัน ของปีที่ผ่านมา (7 เดือนแรก ปี 2565) ได้แก่ ธุรกิจขายส่งข้าวเปลือกและธัญพืชเติบโต 2.23 เท่า เพิ่มขึ้น 114 ราย คาดว่าเป็นผลมาจากนโยบาย BCG Model ของรัฐบาลที่ส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก ธุรกิจบริการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้างเติบโต 2.09 เท่า เพิ่มขึ้น 297 ราย ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และห้องชุดที่กลับมาฟื้นตัวตามภาคการท่องเที่ยวทำให้มีธุรกิจที่รับบริหารจัดการเกี่ยวกับที่พักอาศัย โรงแรม รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศเพิ่มมากขึ้น
ธุรกิจการปลูกพืชประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์เติบโต 2.02 เท่า (เพิ่มขึ้น 235 ราย) คาดว่าเป็นผลมาจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์ และธุรกิจให้เช่าและให้เช่าแบบลิสซิ่งยานยนต์เติบโต 1.74 เท่า (เพิ่มขึ้น 152 ราย) คาดว่ามาจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตและภาคธุรกิจที่นิยมการเช่ารถยนต์กันมากขึ้น
ทั้งนี้ พบว่า การจดทะเบียนเลิกธุรกิจ 7 เดือนแรก ปี 2566 มีจำนวน 8,964 ราย เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (7 เดือนแรก ปี 2565) คิดเป็น 18.70% โดยเป็นการจดทะเบียนเลิกธุรกิจ 7 เดือนแรกที่สูงสุดในรอบ 10 ปี (ปี 2557 - 2566) ส่วนหนึ่งอาจมาจากธุรกิจมีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปทำให้มีการปรับธุรกิจเพื่อเข้าสู่ตลาดจะเห็นได้จากการจดจัดตั้งใหม่ที่สูงและการจดเลิกธุรกิจก็สูงเช่นกัน
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 32,000 - 39,000 ราย และตลอดทั้งปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 79,000 – 86,000 ราย