ส่งออกทรุด! สศช.หั่น GDP เหลือ 2.5-3.0%

ส่งออกทรุด! สศช.หั่น GDP เหลือ 2.5-3.0%

สภาพัฒน์ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 2.5-3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7-3.7% โดยมีปัจจัยหลักมาจากส่งออกที่ทรุดต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ยังต้องจับตาสถานการณ์การเมืองกดดันเศรษฐกิจ

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ดนุชา พิชยนันท์ ระบุ สศช. ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวได้ 2.5 – 3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากในเรื่องการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่จะขยายตัวได้ 5% แต่การใช้จ่ายภาครัฐลดลง 3.1% จากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า และคาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณ  จะเข้าสู่ระบบในไตรมาส 2 ของปี 2567

ขณะที่การลงทุนรวมจะขยายตัวได้ 1.6% การลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ 2% และการส่งออกคาดว่าจะติดลบ 1.8% จากเดิมคาดไว้ที่ติดลบ 1.6% ตามปริมาณการค้าโลกที่ลดลงต่อเนื่อง ส่วนภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศได้ 28 ล้านคน แต่มีการปรับรายได้จากภาคการท่องเที่ยวลง 1.03 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.27 ล้านล้านบาท ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วปรับลดลงที่ 1.7-2.2% จากเดิม 2.5-3.5% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปีนี้มาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าคาด หนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองปี 2566 ขยายตัว 1.8% ชะลอลงจากการขยายตัว 2.6% ในไตรมาสแรกของปี 2566 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยรวมครึ่งแรกของปี 2566 ขยายตัว 2.2% ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวได้แค่ 1.8% มาจากภาคการส่งออกที่ลดลงติดต่อกัน 3 ไตรมาส

สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 ควรให้ความสำคัญกับการรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศรวมทั้งการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการติดตามป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร และการขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าเพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ