'แผนพลังงานชาติ' รอรัฐบาลใหม่ ปรับฉากทัศน์เชื้อเพลิงรับ 'อีวี' บูม

'แผนพลังงานชาติ' รอรัฐบาลใหม่ ปรับฉากทัศน์เชื้อเพลิงรับ 'อีวี' บูม

“กรมธุรกิจพลังงาน” ระบุ รอรัฐบาลใหม่สานต่อนโยบายด้านพลังงาน หวังขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง 1 ใน 5 แผนที่ผนวกอยู่ในแผนพลังงานชาติ เผยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงครึ่งปีแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 2.7% โดยน้ำมันเครื่องบินเพิ่งขึ้น 80.9%

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า เตรียมนำเสนอแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แผนที่ผนวกไว้ในแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ซึ่งจะเป็นแนวทางการพัฒนาพลังงานในช่วง 5 ปี ข้างหน้าให้รัฐบาลใหม่

โดยแผนประกอบด้วย 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

\'แผนพลังงานชาติ\' รอรัฐบาลใหม่ ปรับฉากทัศน์เชื้อเพลิงรับ \'อีวี\' บูม

อย่างไรก็ตาม Oil Plan ได้ผ่านการประชาชพิจารณ์กลุ่มย่อยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงต้องรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนใหม่เห็นชอบจากนั้นจะเปิดประชาพิจารณ์รอบสุดท้ายก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ดังนั้น หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ก็จะกระทบต่อภาพรวมของการดำเนินโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนที่จะล่าช้าตามไปด้วย

สำหรับกรอบแผน Oil Pan แบ่งเป็น 1. บริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงาน โดยการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงและสำรองให้เพียงพอในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและกำหนดการสำรองใหม่ภัยใต้ Energy transformation ที่มีผลกระทบจากนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

2.บริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง แบ่งเป็น น้ำมันดีเซล โดยตั้งแต่ปี 2567 น้ำมันดีเซลหมุนเร็วฐานของประเทศ ให้มีสัดส่วน B100 ที่ 5-9.9% ส่วนน้ำมันเบนซิน E20 เป็นเบนซินฐานของประเทศภายในปี 2570 เช่นกัน ด้าน LPG และ NGV นั้น ภาคขนส่งให้เป็นไปตามกลไกตลาด

โครงสร้างพื้นฐานประสิทธิภาพพลังงาน

3.ส่งเสริมการใช้และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อให้เป็น Backbone ของประเทศ และส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมัน

4.ส่งเสริมธุรกิจใหม่ในอนาคต เช่น ปิโตรเคมี/ปิโตรเคมีขั้นสูง รวมถึงโรงกลั่นชีวภาพ (Bio-Refinery) และ พลังงานหมุนเวียน

ส่วนแนวทางการส่งเสริมธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและสร้างผลตอบแทนที่คุณค่าต่อผู้ลงทุนและต่อประเทศ ช่วง 5 ปี (พ.ศ 2565-2569) จำนวน 8 โครงการ งบลงทุน 34,900 ล้านบาท เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนปีละกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น

1.ปิโตรเคมี/ปิโตรเคมีขั้นสูง (โรงกลั่นน้ำมัน) 1 โครงการ เงินลงทุน 7,500 ล้านบาท โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการลงทุนของโรงกลั่นน้ำมัน สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 และในพื้นที่ลงทุนนอกเหนือโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

2.โรงกลั่นชีวภาพ 7 โครงการ มูลค่า 27,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนผู้ผลิตไบโอดีเซลและผู้ผลิตเอทานอล โดยสนับสนุนการใช้วัตถุดิบทางการเกษตร ส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอเจต (SAF)/BHD สนับสนุนแผน AEDP โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีและเป้าหมายสัดส่วนการผสม SAF ซึ่งจะดูในเรื่องของต้นทุนด้วย หากต้นทุนสูงก็อาจใช้วิธีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น คาดงบลงทุน 5 ปี 50,000 ล้านบาท

เดินหน้าพลังงานสะอาด-หมุนเวียน

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการลงทุนในธุรกิจอื่น เช่น พลังงานหมุนเวียน, การดักจับคาร์บอนและการจัดเก็บคาร์บอน (CCS&CCUS) มีการลงทุนในอนาคตโดยภาพรวม 3 โครงการ วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยการสนับสนุนพลังงานทางเลือกที่สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานที่ยั่งยืนรวมเป็น 54,900 ล้านบาท และยังมีโครงการที่ลงทุนไปแล้ว6 โครงการ มูลค่า 54,200 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงครึ่งปีแรก ของปี 2566 (ม.ค. –มิ.ย.) เฉลี่ยอยู่ที่ 156.74 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.7% โดยครึ่งปีแรก การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.96 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.9%, การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล 72.30 ล้านลิตร/วัน ลดลง 3.7% เนื่องจากปัจจัยด้านราคา 

ทั้งนี้ ภาครัฐยังคงมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซลอย่างต่อเนื่อง โดยภายหลังจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาท/ลิตร สิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.ค. 2566 ได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.45 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 80.9% จากการฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงครึ่งปีหลัง จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการปรับตัวของธุรกิจที่พึ่งพาการขนส่งมากขึ้น โดยน้ำมันกลุ่มเบนซินปรับเพิ่มขึ้น 1.2% น้ำมันดีเซลปรับลดลง 1.9% น้ำมัน JET A1 เพิ่มขึ้น 30.6% และ LPG เพิ่มขึ้น 5.7%