รัฐบาลผสม 11 พรรค VS ‘ดรีมทีมเศรษฐกิจ’ ความหวังบนเส้นขนานที่ไม่มีวันเจอกัน?

รัฐบาลผสม 11 พรรค VS ‘ดรีมทีมเศรษฐกิจ’ ความหวังบนเส้นขนานที่ไม่มีวันเจอกัน?

ภาคเอกชนมีความคาดหวังกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะได้ "ดรีมทีมเศรษฐกิจ" ที่เข้ามาแก้ปัญหา และขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ แต่โอกาสที่จะมีดรีมทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลนี้ไม่ง่ายเพราะเป็นรัฐบาลผสม 11 พรรค จะมีการต่อรองตำแหน่ง - งบฯประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าต้องใช้เวลากว่า 100 วัน รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าประเทศไทยไทยเห็นได้จากตัวเลขจีดีพีที่ถดถอยขยายตัวได้เพียง 1.8% ในไตรมาสที่ 2 โดยมีความอ่อนแอทั้งภาคการส่งออก ภาคการผลิต รวมทั้งภาคท่องเที่ยว เครื่องยนต์ความหวังหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นตามเป้า แต่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ทำให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต้องปรับลดเป้าหมายรายได้ภาคท่องเที่ยวลงจาก 1.27 ล้านล้านบาท เหลือ 1.03 ล้านล้านบาทในการแถลงตัวเลขจีดีพีล่าสุด

เมื่อรวมกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยที่พุ่งเกิน 90% ของจีดีพีฉุดการบริโภค และหนี้นอกระบบที่ยังพอกพูนเพิ่มขึ้น จะเห็นว่าปัญหาที่สั่งสมในเศรษฐกิจไทยนั้นมากมายซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาแก้ไข

ทั้งจากปัญหา และความคาดหวังทำให้ภาคเอกชนออกมาเรียกร้องหา “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหา และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย

เกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชน 3 สถาบัน เรียกร้องว่าเอกชนอยากเห็น “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” และ ครม.ที่ “รูปหล่อ” หมายถึงว่าเมื่อตั้งคนเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยเฉพาะในกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ต้องสร้างความเชื่อมั่นได้ เห็นหน้าแล้วภาคเอกชนต้องเชื่อมือว่าทำงานเป็น ทำงานได้แบบมืออาชีพ

รัฐบาลผสมหลายพรรคทำงานยาก 

อย่างไรก็ตามในมุมมองของ ณรงค์ชัย  อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  กล่าวในรายงาน “Deep Talk” ของกรุงเทพธุรกิจ ว่าการทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไปในการขับเคลื่อนนโยบายว่าค่อนข้างลำบากในการขับเคลื่อนเนื่องจากรัฐบาลต่อไปจะมีพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพลัง พรรคร่วมจะแย่งงบประมาณกันไปดูในงานส่วนของตัวเองเป็นหลัก ขณะที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถไปคุมรัฐมนตรีได้เบ็ดเสร็จ ภาพที่จะออกมาก็จะไปในแนวทางที่แย่งงบประมาณกันทำงานมากกว่าที่จะช่วยกันทำงาน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะเห็นรัฐบาลที่วุ่นวายที่สุดในประวัติศาสตร์

 ซึ่งจากประสบการณ์ที่ตนเคยร่วมรัฐบาล “พล.อ.ชวลิตร” มี 2 พรรคใหญ่ก็สร้างความวุ่นวายมาก แต่ในสิ่งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นรัฐบาลที่เป็นพรรคขนาดใหญ่ 4 พรรคมาร่วมรัฐบาล แปลว่าการทำงานไม่ได้เป็นไปตามที่นายกฯต้องการ แต่ประเทศไทยในระยะต่อไปต้องการการทำงานร่วมกันจะเป็นไซโลไม่ได้ เพราะมีหลายอย่างต้องทำข้ามกระทรวง เช่น นโยบายเกษตร อุตสาหกรรม เรื่องการจัดการน้ำ หรือการวางระบบดิจิทัลที่จะต้องร่วมมือกัน แต่ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะหันมาร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

“จากประสบการณ์ทางการเมืองเวลาเป็นรัฐบาล จะมองตัวเองเป็นหลักมาเป็นที่หนึ่ง พวกตัวเองเป็นอันดับสอง พรรคเป็นอันดับสาม ประชาชาเป็นอันดับท้ายๆ ทำให้ความร่วมมือยังกันระหว่างพรรคจะลำบาก ซึ่งตอนนี้การแย่งกระทรวงก็มีทั้งระหว่างพรรค และในพรรคเดียวกัน ประชาชนอย่าหวังว่ามีรัฐบาลแล้วจะสงบ เราต้องเตรียมใจที่จะเห็นการวุ่นวายทางการเมืองต่อจากนี้ด้วยเพราะมีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง ประชาชนอย่าไปหวังพึ่งรัฐบาลจนเกินไปเพราะข้อจำกัดของรัฐบาลผสมมีเยอะมาก”

 

รัฐบาลผสมหลายพรรคไม่เอื้อเกิดดรีมทีมเศรษฐกิจ

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ว่ายุคสมัยใดหากเป็น “รัฐบาลผสม” โอกาสที่จะเกิดดรีมทีมที่ทำงานอย่างสอดประสาน เข้าขา รู้ใจกันไม่ค่อยมีมากนัก เนื่องจากธรรมชาติของรัฐบาลผสมเมื่อมีการรวมเสียงจากหลายพรรคการเมืองเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล ก็จะมีการต่อรองจำนวนเก้าอี้ และตำแหน่งรัฐมนตรีที่พรรคจะได้ เรียกว่า แบ่งโควตากระทรวงกันมาตั้งแต่เริ่มต้น และยิ่งเป็นพรรคผสมหลายพรรคการที่จะทำงานสอดประสานข้ามกระทรวงกันก็ยิ่งยาก

ขณะที่การบริหารงานเศรษฐกิจนั้นต้องอาศัยการทำงานที่ข้ามกระทรวง ต้องใช้ความร่วมมือในการผลักดันโครงการต่างๆให้สำเร็จ ไม่สามารถทำงานแบบไซโลได้จึงจะเรียกได้ว่าการทำงานแบบดรีมทีมที่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชน และประเทศชาติทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ที่ผ่านมาดรีมทีมเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้นได้เฉพาะในรัฐบาลที่มาด้วยสถานการณ์พิเศษเหมือนตอนรัฐบาล คสช. หรือพรรคที่ชนะการเลือกตั้งมาถล่มทลายอย่างตอนรัฐบาลไทยรัฐไทยที่รัฐบาลมีอำนาจในการขับเคลือนตัดสินใจ จัดสรรงบประมาณลงไปเพื่อพัฒนาโครงการต่างๆ

ที่ผ่านมาในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมาของพรรคเพื่อไทยได้มีการระบุถึงโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาล 11 พรรค ประกอบไปด้วย

  • พรรคภูมิใจไทย (71 ที่นั่ง) ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 4 ตำแหน่ง

 

  • พรรคพลังประชารัฐ (40 ที่นั่ง) ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง

 

  • พรรครวมไทยสร้างชาติ (36 ที่นั่ง) ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง

 

  • พรรคชาติไทยพัฒนา (10 ที่นั่ง) ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง

 

  • พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง) ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง

 

  • พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง) ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการ 8 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวม 9 ตำแหน่ง

 

  • พรรคอื่นๆ อีก 5 พรรค ได้แก่ พรรคชาติพัฒนากล้า 2 ที่นั่ง, พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 ที่นั่ง, พรรคเสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง, พรรคท้องที่ไทย 1 ที่นั่ง และพรรคพลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง

 

จะเห็นว่าในการแบ่งโควตารัฐมนตรีในลักษณะนี้โอกาสที่จะเกิดดรีมทีมเศรษฐกิจนั้นมีไม่มาก โอกาสที่เป็นไปได้มากที่สุดคือมาจากฟากฝั่งของพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 8 กระทรวงว่าการ และได้เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการอีก 9 คน

หากคาดหวังจะมีดรีมทีมเศรษฐกิจก็ต้องคาดหวังจาก "พรรคเพื่อไทย" ว่าท้ายที่สุดแล้วในกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญรวมทั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยจะคัดเลือกหรือมอบหมายให้ใครมานั่งในตำแหน่งเหล่านี้บ้าง

หากเป็นคนที่ประชาชนและภาคธุรกิจเชื่อมั่น และสามารถทำงานได้จริง ก็จะถือว่าเป็นดรีมทีมเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นท่ามกลางรัฐบาลผสมหลายพรรค และบรรยากาศทางการเมืองที่ยังอึดครึมว่าภายใต้การเป็นรัฐบาลผสม 11 พรรคจะทำงานร่วมกันในการบริหารประเทศไปได้ยาวนานเพียงใด