บิ๊กคอร์ปดัน AI ต่อยอดเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

บิ๊กคอร์ปดัน AI ต่อยอดเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจ เปิดเวทีสัมมนาหัวข้อ “AI Revolution...AI : เปลี่ยนโลกธุรกิจ” เพื่อถ่ายทอดให้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาททุกความเคลื่อนไหวและให้เห็นถึงศักยภาพของ AI ที่จะเปลี่ยนโอกาสทางธุรกิจ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์  กล่าวในหัวข้อ  AI : เปลี่ยนโลกธุรกิจ ระบุว่า AI เข้าไปทุกวงการ หากย้อนปี 1975-1995 จะเป็นฮาร์ทแวร์ที่เป็นทีมวิศวกรรมพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์สู่การพัฒนาเป็นดาต้าในปัจจุบัน โดย AI จะมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นและจะเกิดสังคมใหม่ที่มนุษย์ต้องอยู่กับ AI หลายรูปแบบ ปัจจุบันการประกาศรับสมัครงานจะต้องมีความรู้ด้าน AI โดยชื่อตำแหน่งงานที่สมัครจะต่างจากยุคก่อนที่มีตำแหน่งงานแปลกมากมายช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

กลุ่ม ปตท.ใช้ AI & Robotics ต่อยอดภาคธุรกิจและจะยกระดับอาเซียนได้ ซึ่งถือเป็นโอกาสของ ปตท.และประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมที่จะนำ AI & Robotics มาใช้ คือทำให้ Robotics ฉลาดด้วย AI เพราะภาคอุตสาหกรรมหนีเรื่องนี้ไม่ได้ และจะเห็นว่าการได้ใช้ AI มาช่วยในกลุ่มธุรกิจน้ำมันและแก๊ซ ซึ่งจะมีโอกาสเพิ่มมูลค่าเบื้องต้นระดับ 8,000-12,000 ล้านดอลลาร์

ส่วนระบบนิคมอุตสาหกรรมจะมีแอปพลิเคชั่นแพลตฟอร์มที่ทำให้สมาชิกในนิคมอุตสาหกรรมผลิตและแลกเปลี่ยนพลังงานได้ และส่วนที่เหลือขายเข้าระบบกริด โดยเป็นการนำ AI เข้าช่วยและ ปตท.เริ่มปรับระบบมา 2-3 ปีแล้ว

สำหรับการนำเทคโนโลยีมาช่วยในโรงงานจะช่วยเรื่องการแข่งขันต้นทุน โดย AI จะมีส่วนช่วยได้มากและจะต้องพัฒนาเครื่องจักร เครื่องยนต์ให้ฉลาดสามารถพยากรณ์ได้ว่าเครื่องจักรมีปัญหาจุดใดก็เข้าไปซ่อมได้ พร้อมใส่ระบบเซนเซอร์ในศูนย์ควบคุมเพื่อลดวิศวกรและลดอุบัติเหตุลงได้ และพัฒนาอีกขั้นด้วยการให้ AI สื่อสารกันเอง

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จรีพร จารุกรสกุล ระบุ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ศึกษากันมานานมากกว่า 70 ปีแล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทำให้รู้สึกว่ากำลังเกิดขึ้นเร็วมาก เพราะตั้งแต่ปี 2020 เป็นจุดทวีคูณของยุคเทคโนโลยีหลังจากนำมาใช้กับเรื่องใกล้ตัว อาทิ ChatGPT ปัจจุบันยังเป็นเรื่องถกเถียงกันว่าเอไอจะมาแทนที่คน หรือคนที่ใช้เอไอไม่เป็นจะโดนแทนที่ เมื่อโลกเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากมองด้วยความกลัว อนาคตอาจมาถึงเร็วกว่าที่คิด ขณะเดียวกันถ้าเราเข้าใจมัน และเรียนรู้ อนาคตก็จะดีขึ้นกว่าที่คิดได้

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอถือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ เพราะฉะนั้นการที่บริษัทจะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ มองว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดไม่ใช่แค่กับบริษัท แต่รวมถึงหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ดังนั้นตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมาบริษัทจึงกำหนดภารกิจ Mission to The Sun ให้ทุกกลุ่มธุรกิจทรานส์ฟอร์มไปสู่เทคโนโลยีคอมปานี

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดเกิดจากคน การเปลี่ยนมายเซ็ตหรือวิธีคิดของคนในองค์กร ในการเข้าใจเทคโนโลยี ถ้าคนไม่พร้อมไม่ยอมรับต่อให้มีที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลกแนะนำก็ขับเคลื่อนองค์กรไปต่อไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีที่เราพูดถึงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐบาล โดยเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งทำคือการแก้ไขกฎเกณฑ์และกฎระเบียบที่ล้าสมัย สนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและอีโอซิสเต็มให้พร้อม รวมทั้งการบ่มเพาะทาเลนท์ โดยการให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านเอไอตั้งแต่ในวัยปฐมเหมือนกับที่จีน

ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุขึ้นทำให้นักลงทุนสนใจภูมิภาคเรา ดังนั้นไทยจะต้องเร่งให้ความสำคัญ การสนับสนุนสิทธิโยชน์การลงทุน การขับเคลื่อน FTA รวมทั้งการกำหนดจุดยืนในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ที่สำคัญต้องเตรียมพร้อมเรื่องแรงงานทักษะดิจิทัล


รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอสซีบี เอกซ์ อารักษ์ ​สุธีวงศ์ ระบุ ธุรกิจของ “เอสซีบี เอกซ์” ยังไม่ใกล้สิ่งที่อยากจะเป็น คือ “เทคคอมพานี” หรือกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค โดยความคาดหวังที่จะให้ AI มาทดแทนกระบวนการทำงานยังไม่เกิดขึ้นเหมือนที่อยากเห็น แม้จะลงทุนมหาศาลและมีคณะกรรมการสนับสนุนวิศวกร

ดังนั้นช่วงที่ผ่านมา เอสซีบี เอกซ์ พยายามทำภายใต้โครงสร้างพื้นฐานที่มี โดยจัดโครงสร้างการจัดเก็บดาต้าผ่าน SCB DataX จึงตั้ง SCB DataX ขึ้นมาเพื่อจัดเก็บข้อมูลทั้งองค์กร เป็นดาต้ากลาง ให้การจัดเก็บข้อมูลมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และลดต้นทุนมากขึ้น

สำหรับการปรับองค์กรสู่ “ AI First” โดยตั้งเป้าว่าใน 5 ปีหลังจากนี้ต้องมีรายได้ 75% ของรายได้รวมทั้งทางตรงและทางอ้อมมาจาก AI เพื่อให้องค์กรตระหนักว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญ

อันดับแรกอย่าคาดหวังว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนโลก หรือ คนพันคน ที่ทำ AI ขององค์กรเรา จะเปลี่ยนธุรกิจได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่เราคาดหวัง คือ เอไอจะต้องสามารถอยู่ได้ทุกที่ การใช้งานเอไอ ต้องได้ทั้งมุมกว้าง และการพัฒนาเอไอในเชิงลึก สิ่งที่ต้องผลักดันคือ ต้องทำให้ เกิดการเรียนรู้ จากเครื่องมือที่เรามีอยู่ ไม่ต้องถึงกับเขียนโค้ดได้ แต่ทำ No code ,low code ได้


ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด หรือ Bitkub จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ระบุ มุมมองว่าเทคโนโลยี AI จะเข้ามาช่วยยกระดับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทย และเป็นเทรนด์สำคัญของโลก จากการเป็นธีมสำคัญของการประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ปีหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม

ในอนาคต“อินเวสเมนท์ แอสเสท คลาส”ทั้ง2 รูปแบบจะมีมูลค่าเป็น “ศูนย์” อย่างแรกคือ แอสเสทคลาสที่ถูกสร้างขึ้นด้วย “อินฟอร์เมชั่น” และแอสเสทที่ถูกสร้างขึ้นจาก “white collar state forward labor” หรือพนักงานออฟฟิศ เพราะความสามารถของ AI จะเปลี่ยนรูปแบบและโครงสร้างพื้นฐานของการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานจะเข้ามาเปลี่ยนกฎของ ”โลกธุรกิจ” จากรูปแบบการทำงาน “ซูเปอร์แอป” ที่โดดเด่นในปัจจุบันด้วยการใช้งานหลายๆแอป อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เนื่องด้วย AI ที่สามารถประมวลผลและรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการและคัดสรรค์สิ่งที่ดีที่สุดมาให้ผู้บริโภคแล้วทำให้รูปแบบธุรกิจจะกลับไปสู่ “ซิงเกิลแอป”

สำหรับ 4 หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรด้วย AI คือ 1.การประยุกต์ใช้ AI ในระบบโครงสร้างพื้นฐาน 2.การเพิ่ม AI เข้าไปในแอปพลิเคชัน AI เพื่อเซอร์วิสลูกค้า 3.เริ่มใช้นโยบาย AI First เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรและ 4. การมีเป้าหมายร่วมกันตั้งแต่ระดับลีดเดอร์ไปจนถึงพนักงาน

ทั้งนี้ Generate AI มีทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวเป็นอย่างมาก คือ AI Deepfake ที่น่ากลัวกว่าการหลอกลวงแบบคอลเซ็นเตอร์ รวมทั้งเทคโนโลยี AI ในการอ่านความคิดมนุษย์ในการสแกนหัวสมองอาจถูกใช้ปลอมแปลงเอกสาร โดยการเข้ามากำกับดูแลทางกฎหมายอาจไม่ทันพัฒนาการทางเทคโนโลยี ดังนั้นการป้องกันดีที่สุด คือ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ป้องกันการปลอมแปลง