ราคาข้าวไทยราคาพุ่งแตะ1.2 หมื่นบาทต่อตันหลังอินเดียสั่งห้ามส่งออกข้าว
ราคาข้าวโลกทะยานไม่หยุด ดึงราคาข้าวไทย แตะ1.2 หมื่นบาทต่อตัน ชาวนายิ้ม เผย พม่าตามอินเดียออกมาตราแบนส่งออกข้าว 2 เดือน หวั่นประเทศส่งออกข้าวอื่นทำตาม ดันราคาปรับตัวสูงขึ้นไปอีก
สถานการณ์ราคาข้าวตลาดโลกที่ดีดตัวทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีสัญญาณว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเป็นรัฐบาลอินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวทุกชนิด ยกเว้นให้แค่เพียงข้าวบาสมาติ (Basmati Rice) ที่ยังส่งออกได้ รวมทั้งเปิดช่องให้ขายข้าวแบบจีทูจีให้กับประเทศที่ร้องขอ โดยขณะนี้มีหลายประเทศที่ร้องขอไปยังรัฐบาลอินเดียเพื่อขอโควต้าส่งออกข้าว ส่งผลให้ตลาดข้าวโลกเกิดความผันผวน ดันราคาข้าวพุ่งทะยานไม่หยุด เนื่องจากอินเดียถือเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของการค้าข้าวทั่วโลก ตามมาด้วยผู้ส่งออกรายใหญ่ชาติอื่นๆ อย่างไทย เวียดนาม ปากีสถาน และสหรัฐ
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า จนถึงขณะนี้สถานการณ์ราคาข้าวก็มีความผันผวน ยังไม่นิ่ง ทำให้การเสนอราคาขายทำได้ยาก ล่าสุด รัฐบาลพม่าจะประกาศมาตรการห้ามการส่งออกข้าว 2 เดือน คือ ก.ย.-ต.ค.ก็อาจส่งผลทางจิตวิทยาในตลาดข้าวเพิ่มขึ้นไปอีกทำให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้นอีก แม้ว่าพม่าจะไม่ใช่ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ก็ตาม ขณะที่ราคาข้าวไทยล่าสุดมีการขายข้าวสารขาว 5 % กิโลกรัม(ก.ก.)ละ 21-21.50 บาท หรือ 20,000-21,500 บาทต่อตัน จากเดิมแค่ 17,000 บาท ทำให้ไม่สามารถคาดเดาราคาข้าวจากนี้ต่อไปว่าจะทะยานขึ้นอีกหรือไม่ เพราะซึ่งยังไม่แน่นอนว่าอินเดียจะยุติมาตรการห้ามส่งออกข้าวเมื่อไร
สิ่งผู้ค้าข้าวจับตามองในขณะนี้คือ อินเดียจะขายข้าวแบบจีทูจีให้กับประเทศไหน โดยมีหลายประเทศไปร้องขอรัฐบาลอินเดียไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อราคาข้าวในตลาดโลก ล่าสุดราคาข้าวFOB ณ วันที่ 16 ส.ค.66 ข้าวขาว 5 % ของไทยอยู่ที่ 612 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเราไม่สามารถทราบได้ว่าราคาข้าวอินเดียจะขายเท่าไร ขายให้ใคร เพราะหากรู้ราคาก็จะสามารถเสนอขายข้าวได้ ผู้ซื้อก็รอดูสถานการณ์ ขณะที่โรงสีเองก็ยังไม่ส่งมอบเช่นกัน สถานการณ์แบบนี้ก็ส่งผลกระทบต่อตัวเลขการส่งออกไทยได้ ที่วางไว้ตั้งเป้าทั้งอยู่ที่ 8 ล้านตัน โดยเฉพาะหากคู่ค้าของไทยทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ร้องขอซื้อข้าวจากอินเดียสำเร็จ จะกลายเป็นแย่งตลาดของไทยไป
“สถานการณ์ต้องติดตามทุกระยะ ราคาข้าวก็ขยับขึ้น โดยข้าวเปลือก 12,000-13,000 บาทต่อตัน ขยับขึ้นสูงมาก ซึ่งเป็นราคาที่สร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรที่จะปลูกข้าวแม้ว่าไทยจะเจอกับปัญหาเอลนีโญที่จะทำให้ปริมาณน้ำลดลง เกิดความแห้งแล้ง จนทำให้ทางการอาจร้องขอให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปรัง แต่ก็ยากเพราะราคาข้าวที่สูงขึ้นเป็นแรงจูงใจทำให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง”
มาตรการแบนการส่งออกข้าวที่ผู้ส่งออกอันดับต้นของโลกนำมาใช้ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกดีดตัวขึ้น และล่าสุดพม่ายังประกาศห้ามส่งออกข้าวเป็นเวลา 2 เดือน ถือว่าเป็นแรงส่งทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกเกิดความผันผวนได้อีก อย่างไรก็ตาม เวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย และไทย ยืนยันว่าเวียดนามไม่มีแผนที่จะระงับการส่งออกข้าวตามอินเดีย แต่ราคาข้าวเวียดนามพุ่งขึ้นเช่นเดียวกับราคาข้าวในประเทศนับตั้งแต่ที่อินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวยกเว้นข้าวพันธุ์บาสมาติ
แต่ในอนาคตก็ไม่มีการันตีว่า ประเทศผู้ส่งออกข้าวของโลกจะใช้มาตรการแบนการส่งออกข้าวเหมือนเช่นอินเดียอีกหรือไม่ เพราะปัจจุบันความมั่นคงทางอาหารถือเป็นเรื่องสำคัญของทุกประเทศ คงต้องจับตาสถานการณ์ราคาข้าวว่าจะพุ่งสูงสุดไปแค่ไหนและจะส่งผลกระทบต่อเป้าการส่งออกของไทย 8 ล้านตันหรือไม่