นายกฯ เศรษฐา รับต้องประเมินงบประมาณ ก่อนดัน 'รถไฟฟ้า 20 บาท'

นายกฯ เศรษฐา รับต้องประเมินงบประมาณ ก่อนดัน 'รถไฟฟ้า 20 บาท'

นายกฯ เศรษฐา รับต้องประเมินงบประมาณ พร้อมหารือพรรคร่วมรัฐบาล ก่อนดันนโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ด้านกรมการขนส่งทางราง ยันนโยบายทำได้ พร้อมเปิดแนวทางผลักดันหลายรูปแบบ

พรรคเพื่อไทยได้เสนอนโยบายรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ 20 บาท ตลอดสาย โดยในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งได้แจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่ากำหนดงบประมาณที่ใช้ 40,000 ล้านบาท บวกกับเงินประมาณเพิ่มอีกปีละ 8,000 ล้านบาท โดยมีแหล่งที่มาจากการจัดสรรงบประมาณปกติ โดยพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าต้องมีการจัดสรรงบประมาณ แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่างบประมาณที่ใช้

สำหรับนโยบายดังกล่าวพรรคเพื่อไทยต้องการลดภาระค่าโดยสารให้กับประชาชนและส่งเสริมการใช้รถขนส่งสาธารณะ 

ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเดินทางขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีเพชรบุรีไปยังสถานีรถไฟฟ้าสุทธิสารเพื่อพบปะประชาชน โดยระบุว่า การเดินทางมาครั้งนี้ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมไปถึงสอบถามการค้าขายสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว

ส่วนเรื่อง นโยบาย'รถไฟฟ้า 20 บาท' ตามที่พรรคเพื่อไทยเคยออกมาประกาศเป็นนโยบายหาเสียงนั้น ขณะนี้ต้องขอไปพิจารณาในรายละเอียดก่อน เพราะถึงแม้จะเคยบอกว่าเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย แต่ปัจจุบันเราไม่ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว การที่มีพรรคร่วมรัฐบาลอีก 10 พรรค ก็ต้องไปพิจารณาในเรื่องของงบประมาณโดยรวมก่อน และจะมีการชี้แจงอีกครั้ง 

นายกฯ เศรษฐา รับต้องประเมินงบประมาณ ก่อนดัน \'รถไฟฟ้า 20 บาท\'

ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น กรมฯ ประเมินว่าสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องรอนโยบายที่ชัดเจนก่อนว่า รัฐบาลจะตัดสินใจดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายใด และจะดำเนินการเมื่อใด มีระยะเวลาดำเนินการแค่ไหน เพื่อนำมาพิจารณาในด้านงบประมาณที่จะใช้ในการอุดหนุนหรือชดเชยส่วนต่างให้กับเอกชนที่เป็นคู่สัญญาสัมปทาน

อย่างไรก็ดี กรมฯ ได้ศึกษาความเหมาะสมของการใช้นโยบายดังกล่าวกับกลุ่มเป้าหมายหลายประเภท อาทิ กรณีให้สิทธิ 20 บาทตลอดสายกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกรณีให้สิทธิสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการ โดยเบื้องต้นพบว่าในกรณีให้สิทธิแก่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีความเป็นไปได้มากที่สุด และสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะมีความพร้อมด้านระบบซอฟต์แวร์ ระบบฐานข้อมูลที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดในการให้สิทธิแก่กลุ่มเป้าหมายได้ทันที

โดยปัจจุบันภาครัฐมีการดูแลค่าเดินทางผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 750 บาทต่อเดือน แต่พบว่าการเดินทางด้วยรถไฟฟ้ายังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากมีค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 30 – 40 บาทต่อเที่ยว ทำให้ไม่จูงใจในการใช้บริการ แต่หากลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าลงเหลือ 20 บาทตลอดสาย วงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะใช้เดินทางได้เที่ยวเพิ่มขึ้น จะจูงใจให้ผู้มีรายได้น้อยหันมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มตามไปด้วย

ส่วนกรณีให้สิทธิสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการ อาจจะต้องกำหนดเป็นเงื่อนไขบางช่วงเวลา กำหนดใช้เป็นกรอบเวลาในระยะ 3 เดือน หรือให้อัตราราคา 20 บาทตลอดสายในบางเส้นทางที่เป็นของรัฐ เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง หรืออาจจะกำหนดเป็นตั๋วรายเดือน สำหรับผู้เดินทางประจำ ที่ราคาตั๋วรายเดือนในขณะนี้หากเฉลี่ยจะอยู่ที่ 25 บาทต่อเที่ยว ดังนั้นภาครัฐก็จะใช้เงินชดเชยส่วนต่างภาคเอกชนไม่มาก