'ทนง' แนะรัฐบาลทำ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'ต้องมีกลไกหมุนเงินสร้าง 'เศรษฐกิจชุมชน'
อดีตรัฐมนตรีคลังแนะรัฐบาลใหม่ทำดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แค่แจกเงินไม่พอ ต้องมีกลไกให้เงินหมุนไปในระดับหมู่บ้าน เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 - 5 ปี ชี้ใช้เงินมากกว่าสมัยกองทุนหมู่บ้านมาก แนะรัฐบาลเศรษฐาดูนโยบายสมัยไทยรักไทยแก้จน-แก้หนี้ชุมชน
วันที่ 31 ส.ค.2566 ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในระหว่างเป็นประธานในพิธีการเปิดหลักสูตร หลักสูตร Wealth of Wisdom : WOW รุ่นที่ 3 “ขุมทรัพย์แห่งปัญญา วิถีแห่งการลงทุน” ตอนหนึ่งว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในระยะเวลา ประมาณ 70 ปีที่ผ่านมาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
โดยการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่าทำได้ดีเศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่องยกเว้นปีที่มีปัญหาจากวิกฤติโดยในช่วงวิกฤติทั้ง 2 ครั้งประเทศไทยผ่านมาได้ทั้งต้มยำกุ้ง และวิกฤติโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์
ทั้งนี้มาจากความสามารถของทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตามตนมองว่าวิกฤติโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศระยะยาวมากกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเนื่องจากกระทบกับรายได้ และหนี้สินครัวเรือนรวมทั้งหนี้สินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยปัญหาจากโควิด-19 ทำให้ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเห็นได้ชัดขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของปัญหาเรื่องรายได้ที่ยังมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำมากโดยช่องว่างของผู้มีรายได้สูงและรายได้น้อยต่ำกันมากกว่า 20 เท่า หรือรายได้กว่า 80% ไปอยู่ในมือคนแค่ 20%
ขณะที่ปัญหาหนี้สินครัวเรือนสูงมาก และเป็นผลวิกฤติจากโควิด-19 มาถึงปัจจุบันที่คนมีการกู้ยืมเงินมากขึ้นโดยปัจจุบันไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ของจีดีพี หนี้ครัวเรือนสูงถึง 16 ล้านล้าน เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านล้าน หรือเพิ่มกว่า 50% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็วมาก
“หนี้ครัวเรือนส่วนนี้คนจนต้องจ่ายดอกเบี้ยมากถึงปีละ 2 ล้านล้านบาท หรือเป็นหนี้ประมาณ 4 หมื่นบาทต่อคนต่อปี หรือจ่ายดอกเบี้ยเดือนละประมาณ 3,000 บาท ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อลดหนี้ลงให้เหลือประมาณ 13 - 14 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงเหลือ 70% ต่อจีดีพีซึ่งถือว่าไม่ได้สูงจนเกินไป”
ดร.ทนงกล่าวต่อว่าข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาความยากจน รัฐบาลชุดใหม่ของคุณเศรษฐา ทวีสิน จำเป็นต้องต่อยอดนโยบายจากสมัยไทยรักไทย ซึ่งสามารถลงไปแก้ไขความยากจนของประชาชนในพื้นที่ ทำให้เงินทุนหมุนเวียน และสร้างตลาดสินค้าชุมชนเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนั้นมีหลายนโนบายที่เกิดขึ้นเช่น กองทุนหมู่บ้านหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท และโอทอป สร้างรายได้ระดับชุมชน และช่วยลดหนี้ให้ประชาชนได้
ทั้งนี้ในสมัยรัฐบาลเพื่อไทยบอกว่าจะใช้เงินดิจิทัลมาทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแจกคนละ 1 หมื่นบาท เป็นวงเงิน 5.6 แสนล้านบาท นั้นเท่ากับแจกเงินให้กับแต่ละหมู่บ้านประมาณ 6.5 ล้านบาท
รวมทั้งต้องถามว่าถ้าจะทำจริงเงินจำนวนนี้สามารถสร้างความสามารถในการยกระดับเศรษฐกิจ หรือหมุนเวียนในชุมชนไปต่อเนื่องได้เป็นระยะเวลา 4 – 5 ปีซึ่งเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องได้หรือไม่ ซึ่งถ้าได้แบบนี้ก็ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างแท้จริง และเกิดผลิตภายในระดับชุมชนได้ เพราะหากทำแค่ให้การใช้จ่ายเงินก็จะหมุนออกจากชุมชนและออกจากประเทศไปโดยที่ไม่เกิดผลบวกต่อเศรษฐกิจได้มากพอ
“ถ้าจะทำดิจิทัลวอลเล็ตต้องถามว่าจะเพิ่มผลิตภาพเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้อย่างไร จะคิดแค่เป็นการทำเงินดิจิทัลโดยใช้บล็อกเชนอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องทำให้เกิดการเพิ่มจีดีพีจากข้างล่างขึ้นมาจนถึงระดับประเทศ แล้วทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่อเนื่องไม่ได้ถึงจะเกิดผลบวกต่อเศรษฐกิจทั้งระบบได้จริง”ดร.ทนง กล่าว