'เงินดิจิทัล 10,000 บาท' ทำได้จริงไหม? รวมลิสต์ความเห็นนักวิชาการหลายฝ่าย
"เงินดิจิทัล 10,000 บาท" ยังคงร้อนแรง นักวิชาการหลายฝ่ายหวั่นใจว่า นโยบาย "แจกเงิน" ของเพื่อไทยครั้งนี้อาจได้ไม่คุ้มเสีย ขณะที่บางคนเห็นด้วยว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง
ท่ามกลางความหวังที่รอคอยของคนไทยที่อยากจะใช้ "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" ในเร็ววัน ในขณะที่ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยยังต้องการเวลาเพื่อดำเนินการหลายๆ อย่าง จึงตอบประชาชนได้เพียงกรอบเวลาคร่าวๆ ว่า เงินดิจิทัลจะสามารถเริ่มใช้จ่ายได้ภายในครึ่งปีแรกของปีหน้า ประมาณเดือนมกราคม - มิถุนายน 2567 โดยจะเร่งรัดให้ประชาชนได้ใช้ทันช่วงเทศกาลสงกรานต์ (เดือนเมษายน 2567)
อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านหนี้สาธารณะ และอีกหลากหลายฝ่าย ออกมาแสดงความเห็นต่อนโยบายดังกล่าวในเชิงหลักการและข้อกฎหมาย ในประเด็นที่ว่า นโยบาย "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" จะทำออกมาได้จริงหรือไม่? หากทำได้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน? กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมนานาทัศนะจากนักวิชาการทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มาให้อ่านเปรียบเทียบเพื่อให้มองเห็นภาพรวมมากขึ้น ดังนี้
- "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างไรในมุมเจ้าของนโยบาย
ขอเริ่มจากการอธิบายแนวคิดและประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ หากมีการดันโครงการ "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" ของ "พรรคเพื่อไทย" ให้เกิดขึ้นจริง โดยทางเพื่อไทยมีการสื่อสารข้อมูลถึงประชาชนผ่านทางเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของพรรค และผ่านการแถลงข้อมูลโดยตรงจาก "ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล" รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
โดยย้ำให้เห็นว่า "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" เป็นนโยบาย ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศทั้งในระยะสั้น คือ การเพิ่มเงินในระบบ, ระยะกลาง คือ วางมาตรการ และเงื่อนไขให้รัฐเก็บภาษีคืนได้ และระยะยาว คือ วางโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
พร้อมระบุด้วยว่า เงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นมาตรการเฉพาะหน้า เป็นรากฐานสำคัญเพื่อต่อยอดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 600 บาท/วัน เงินเดือนปริญญาตรีเริ่มที่ 25,000 บาท/เดือน เพื่อยกสถานะความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
- อธิการบดี ม.หอการค้าไทย มองว่า "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" ทำได้จริง
ด้าน รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า นโยบายนี้สามารถทำได้จริง และมีเงินเพียงพอ โดยเบื้องต้นทราบว่าวางวงเงินไว้ประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งที่มาของเงินก้อนนี้จะได้มาจากการวางโครงสร้างงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท และใช้การขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท มาช่วยเสริม แต่อาจต้องชะลอโครงการบางโครงการออกไป
ส่วนกรณีที่หลายคนเป็นห่วงว่าอาจจะกระทบกับการสร้างหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น รศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่าไม่น่าจะกระทบ เพราะสำนักงบประมาณ มีการวางกรอบการขาดดุลไว้ไม่เกิน 4% ซึ่งขณะนี้เพดานหนี้สาธารณะของไทย อยู่ที่ 60% แต่สามารถขยายได้ 70% ดังนั้นไม่ต้องกู้เพิ่ม อีกทั้งเชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจ 2-3 รอบ คิดเป็นมูลค่า 1-1.5 ล้านล้านบาท โดยรัฐอาจออกแบบการใช้งานแบ่งเป็นเฟสละ 3,000 บาท เพื่อกระจายให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้มีเงินหมุนเวียนได้หลายรอบ
- อดีตกรรมการฯ หนี้สาธารณะ ชี้ "แจกเงินดิจิทัล" เพิ่มความเสี่ยงฐานะทางการคลัง
ในขณะที่นักวิชาการฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ทบทวนการดำเนินการ "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" อีกครั้ง เพราะอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี
โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง แสดงความคิดเห็นว่า เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้ามามากกว่า 3 เดือนแล้ว ทำให้รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญกับการเร่งรัดจัดทำงบประมาณปี 2567 การเบิกจ่ายต่างๆ จะล่าช้าไปประมาณ 5-6 เดือน ส่งผลลบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปีงบประมาณ 2567 เศรษฐกิจอาจไม่ขยายตัวตามที่คาด และอาจไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย
ยังไม่รวมถึงการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อพยุงราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงคลังสูญเสียรายได้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 158,000 ล้านบาท กองทุนน้ำมันยังมีหนี้อยู่อีก 70,000 กว่าล้านบาท หากรัฐบาลใหม่ยังคงเดินหน้าแจกเงิน Digital Wallet ให้กับคนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปี มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มอย่างแน่นอน หากไม่ก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม ก็ต้องเก็บภาษีเพิ่ม หากเก็บภาษีเพิ่มเพื่อนำมาแจกจ่ายเงิน โดยทั่วไปก็เป็นเรื่องค่อนข้างแปลกสำหรับการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ควรจะเป็น
หากเกิดกรณีที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มอีกมากกว่า 500,000 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินนโยบายแจกเงิน Digital Wallet งบประมาณจะขาดดุลมากกว่า 1.093 ล้านล้านบาท แม้การกู้เงินเพื่อทำงบขาดดุลเพิ่มอาจยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอยู่ แต่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงฐานะทางการคลัง ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
- นักวิจัยการลงทุน ให้ความเห็นว่าทำได้ยาก ติดปัญหางบมาจากไหน?
ส่วนทางด้าน ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด สะท้อนมุมมองความเห็นผ่าน พีพีทีวี ว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท แม้จะมีข้อดีคือ เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบ เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงิน กระตุ้นจีดีพีของประเทศไทยกระเตื้องขึ้นได้ประมาณ 0.7% GDP แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะตัวงบประมาณที่ใช้อยู่ที่กว่า 5 แสนล้านบาท รัฐบาลจะนำงบก้อนนี้มาจากไหน
หากไปดึงมาจากงบประมาณอื่นๆ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นก็หายไปเช่นกัน แล้วที่คาดกันว่าผลจะทวีคูณ 2-3 เท่า จะได้เงินกลับมา 2-3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคนั้น การคำนวณของนักเศรษฐกิจก็มองว่าอาจกระตุ้นได้ไม่ถึงขนาดนั้น ถัดมาคือเรื่องแพลตฟอร์มที่จะใช้แจกเงินให้กับ 50 ล้านคน ยังมีคำถามในเรื่องวิธีการใช้จ่ายว่า ตัวระบบจะรองรับความถี่ในการใช้งานได้แค่ไหน หากสแกนใช้จ่ายพร้อมกันสัก 10% ก็แตะ 7 ล้านคนเข้าไปแล้ว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการใช้จ่ายติดขัดหรือไม่?
ในทิศทางเดียวกัน เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า นโยบายแจก "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" อาจมีคำถามต่อแหล่งที่มาของเงินทุน เช่น ต้องปรับลดงบลงทุนภาครัฐ, ลดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจากภาระหนี้สาธารณะในปัจจุบัน รวมถึงปรับลดสวัสดิการที่ถูกมองว่าซ้ำซ้อน นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้จะก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างไร?
อย่างไรก็ตาม มีอีกหนึ่งแนวทางที่สามารถทำให้นโยบายเดินหน้าได้ นั่นคือ "กู้เงิน" โดยประเทศไทยมีหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 61.15% (ข้อมูลล่าสุดเดือน มิ.ย.66) ซึ่งตามกรอบวินัยการคลังสามารถกู้เพิ่มได้จนกว่าหนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ระดับ 70% แต่โดยหลักการแล้วไม่ควรกู้จนเต็มเพดานหนี้ ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวยังต้องติดตามต่อระยะกลาง-ยาวว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ แต่ในระยะสั้นคาดว่าอาจทำให้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้
- นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ แจกเงินดิจิทัล อาจทำให้ขาดดุลงบเพิ่มเติม
ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร แสดงความกังวลต่อการหางบประมาณสำหรับนโยบายดังกล่าวเช่นกัน โดยได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 24 ส.ค.66 ไว้ว่า ต้นทุนโครงการนี้มูลค่ากว่า 5.5 แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 3% ของ GDP และกว่า 16% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ยากมากที่เราจะตัดงบประมาณ หรือขึ้นภาษีมาจ่ายโครงการนี้ได้ทั้งหมด อย่างไรเสียก็อาจจะต้องมีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม
ในขณะที่งบประมาณปีหน้าที่รัฐบาลชุดที่แล้วอนุมัติไว้ ก็พบว่ามีการขาดดุล 3% ของ GDP แล้ว แปลว่ามีช่องว่างให้ขาดดุลเพิ่มได้แค่อีกนิดเดียว และถ้าจะตัดงบก็ติดว่าตอนนี้ภาครัฐมีงบประจำสูงถึงเกือบ 80% ของวงเงินงบประมาณ จึงมองว่าคงจะตัดอะไรได้ไม่มากนัก
- นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ ม.นอตทิงแฮม ไม่เห็นด้วยกับการ "แจกเงินดิจิทัล" ชี้ อาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
ส่วนทางด้าน ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ หรือ ดร.นุช นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินการคลังและภาษี มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม เทรนต์ ประเทศอังกฤษ ก็ได้สะท้อนความเห็นต่อประเด็น "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (ณ 28 ส.ค.66) ไว้ด้วยเช่นกันว่า การที่รัฐบาลแจกเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินธนบัตร เงินเข้าบัญชีธนาคาร/เข้าแอปฯ หรือเป็น "เงินดิจิทัล" ต่างก็ส่งผลกระทบต่อปริมาณเงิน อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ค่าเงิน และตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวคือ
1. หากเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ถูกนำไปซื้อสินค้าและบริการ อุปสงค์ในตลาดจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อุปทานและปัจจัยการผลิตเท่าเดิม นี่จะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น หรือก็คือภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ต้องยกระดับอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่อาจนำไปสู่วิกฤติศรษฐกิจ และหากมีการแจกเงินดิจิทัลอัดฉีดเข้าไปในระบบ โดยที่เงินนั้นไม่ได้เป็นเงินสะสมของภาครัฐ หรือได้จากการเก็บภาษีหรือการออกพันธบัตรระดมทุน ก็จะเท่ากับว่าเงินดิจิทัลนี้ก็คือการพิมพ์เงินเพิ่มเข้ามาในระบบนั่นเอง ทำให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นในระบบทันที 11% ตามกลไกทางเศรษฐกิจ
2. บางคนบอกว่า รัฐไม่ขาดดุลหรอก หนี้ไม่เยอะหรอก โดยหวังว่าเงินดิจิทัลที่ประชาชนเอาไปใช้จ่ายนี้ จะทำให้ธุรกิจมีรายได้ รัฐเก็บภาษีกลับมา แต่ต้องลองคิดก่อนว่า เงินดิจิทัลที่แจกไป แม้จะทำให้เกิดรายได้กับภาคธุรกิจ แต่ก็ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นไปด้วย (เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ) ธุรกิจอาจไม่ได้มีกำไรเพิ่มขึ้นเพื่อมาเสียภาษีให้รัฐได้เพิ่มขึ้น อย่าลืมว่าธุรกิจเสียภาษีบนกำไร ไม่ใช่เสียภาษีบนรายรับ ในขณะเดียวกัน เงินเฟ้อที่สูงขึ้น จะทำให้รายได้ที่แท้จริง (รายได้หลังหักผลของอัตราเงินเฟ้อ) ลดลง นี่เป็นธรรมชาติของค่าจ้าง ที่จะไม่ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ โดยทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า wage rigidity
3. ในทางกลับกัน อาจเกิดกรณีที่การแจกเงินดิจิทัลไม่ได้ทำให้ประชาชนผู้ได้รับเงินดิจิทัลมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีการใช้จ่ายเท่าเดิม (โดยเงินที่ได้รับแจกจะกลายเป็นเงินช่วยสนับสนุนค่าครองชีพ และเลือกที่จะเอารายได้ส่วนที่เหลือไปเป็นเงินออมหรือชำระหนี้) เมื่อไม่มีการใช้จ่ายหมุนเวียนภายในประเทศเพิ่มขึ้น ธุรกิจต่างๆ ย่อมไม่ได้รับอานิสงส์ใดๆ จากมาตรการดังกล่าว ...นี่เป็นเพียงการวิเคราะห์บางส่วนจากความเห็นของ ดร.นงนุช เท่านั้น
ขณะที่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่นักวิชาการหลายคนมองเห็นตรงกันคือ นโยบาย "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" อาจทำไม่ได้จริง! เพราะติดขัดกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ โดยล่าสุด แบงก์ชาติ ได้ตอบผ่านสื่อมวลชนมาแล้วว่า “เรื่องเงินดิจิทัล ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดของนโยบาย คงต้องขอดูความชัดเจนก่อน” เอาเป็นว่านโยบายนี้จะทำได้หรือทำไม่ได้ ประชาชนคนไทยคงต้องติดตามต่อกันอีกยาวๆ
-------------------------------------------------
อ้างอิง : รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย, รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ, ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์, ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย, ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์