จับตามหากาพย์ ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม' ใต้เงา ‘สุริยะ’ กุมบังเหียนคมนาคม
จับตา “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สางปัญหาประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” หลังติดมหากาพย์ฟ้องร้องปมแก้หลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชน กระทบแผนเปิดให้บริการล่าช้า แม้งานก่อสร้างช่วงศูนย์วัฒน์ธรรมฯ - มีนบุรี จะแล้วเสร็จ 100%
ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” หนึ่งในโผรายชื่อรัฐบาลเศรษฐา 1 จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยเมื่อครั้งการหารือระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และตัวแทนจาก 8 สายการบิน เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมการบิน นายกฯ ยังได้แนะนำให้ตัวแทนจากสายการบินต่างๆ รับทราบว่า “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม” จึงถือเป็นเสียงยืนยันอย่างชัดเจนแล้ว ในตำแหน่งผู้กุมบังเหียนกระทรวงเศรษฐกิจใหญ่ที่มีงบระดับ 2 แสนล้านบาท
สำหรับหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนต่อไปจะต้องเข้ามาเร่งสางปัญหา หนีไม่พ้นโครงการค้างท่อที่รอการตัดสินใจอย่าง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” เนื่องจากโครงการนี้นับเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐร่วมลงทุนกับภาคเอกชน มูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ปัจจุบันล่าช้ากว่าแผน หากนับจากวันที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลงนามสัญญาและเริ่มงานก่อสร้างในช่วงปี 2561 พร้อมทั้งก่อนหน้านี้มีการกำหนดเป้าหมายเปิดให้บริการประชาชนภายในปี 2566
ขณะที่สถานะปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ เนื่องจากสัญญาเดินรถได้รวมอยู่กับสัญญาการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ
โดยปัจจุบันการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนนั้น แม้จะมีการเปิดประกวดราคาและได้ตัวเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอดีสุดแล้ว แต่ยังไม่สามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ เนื่องจากปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง กรณีที่มีเอกชนยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชน ส่งผลให้โครงการดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และคาดว่าจะต้องรอการพิจารณาของรัฐบาลใหม่ว่าจะมีนโยบายดำเนินการอย่างไร
อย่างไรก็ดี รฟม.เคยออกมาประเมินด้วยว่า หากโครงการนี้ได้ข้อสรุปสัญญาร่วมลงทุน และมีการลงนามภายในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะเร่งให้เอกชนลงทุนวางระบบรถไฟฟ้าแล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อเปิดบริการช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรีภายในปี 2568 ภาพรวมโครงการนี้จึงล่าช้าจากแผนประมาณ 2 ปี
สำหรับประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ยังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง คือ
คดีเอกชนยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค. 2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค. 2563