เรื่องที่ต้องระวัง การก่อหนี้กับวิกฤติเศรษฐกิจ

เรื่องที่ต้องระวัง การก่อหนี้กับวิกฤติเศรษฐกิจ

รายงานล่าสุดของสหประชาชาติ ชี้ว่า ประเทศกําลังพัฒนา 52 ประเทศทั่วโลกขณะนี้กําลังมีปัญหาหนี้รุนแรง คือประเทศมีหนี้สูงเกินความสามารถที่จะชําระคืน ทําให้เสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย เป็นอันตรายทั้งต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและอธิปไตยของประเทศ

สาเหตุสําคัญมาจากรัฐบาลที่กู้ยืมเงินมากเพื่อใช้จ่าย หรือออกนโยบายให้ภาคธุรกิจและประชาชนกู้เงินได้ง่าย ผลคือเศรษฐกิจเติบโตระยะสั้นแต่ประเทศมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตามมา เพราะหนี้ของประเทศสูงขึ้นแต่ความสามารถในการหารายได้เท่าเดิมหรือแย่ลง

ประเทศจึงอ่อนไหวต่อการผิดนัดชำระหนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ทํานโยบายต้องตระหนัก ต้องเข้าใจพลวัตระหว่างหนี้กับวิกฤติเศรษฐกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศเกิดวิกฤติ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

รายงานของกลุ่มกู้ภัยวิกฤติโลกสหประชาชาติ (UN Global Crisis Response Group) เรื่อง โลกของหนี้ (World of Debt) เผยแพร่เดือน ก.ค. ชี้ว่าประเทศกําลังพัฒนา 52 ประเทศ หรือร้อยละ 40 ของประเทศกําลังพัฒนาขณะนี้มีปัญหาหนี้รุนแรง

คือปริมาณหนี้ที่มีสูงเกินความสามารถที่จะชำระคืน กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศและสร้างความเสี่ยงต่ออธิปไตยของประเทศ 

เรื่องที่ต้องระวัง การก่อหนี้กับวิกฤติเศรษฐกิจ

ในหลายประเทศขณะนี้ ที่มีประชากรรวมแล้วกว่า 3.3 พันล้านคน รัฐบาลต้องใช้เงินเพื่อชําระหนี้แต่ละปีสูงกว่าเงินที่ประเทศใช้ในด้านสาธารณสุขและการศึกษา ทําให้การพัฒนาประเทศหยุดชะงัก เดินหน้าต่อไม่ได้ เพราะภาระหนี้ที่ประเทศมี

นี่คือภัยของการกู้ยืมที่สูญเปล่า ที่รัฐบาลใช้เงินที่กู้มาโดยไม่คํานึงถึงความสามารถของประเทศที่จะหารายได้ในอนาคตเพื่อชำระหนี้

การก่อหนี้และโอกาสที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก เพราะปริมาณหนี้ที่สูงเกินความสามารถที่ประเทศจะชำระคืนคือต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจ มีตัวอย่างมากมายไม่ว่าจะกรณีที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้

เช่น อาร์เจนตินา (2018-2019) กรีซ (2009-2010) ที่เป็นหนี้ภาครัฐ หรือวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย (1997-1998) ที่เกิดปัญหาในไทย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ภาคธุรกิจ หรือที่กําลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน เช่น เลบานอน เวเนซุเอลา และศรีลังกา

การศึกษาวิเคราะห์วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นให้ข้อสรุปว่า

1.วิกฤติเศรษฐกิจเกิดจากก่อหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ภาครัฐ หนี้ภาคธุรกิจ หนี้สถาบันการเงิน หรือหนี้ครัวเรือน ถ้าปริมาณหนี้ที่ประเทศมีสูงเกินความสามารถที่จะชำระคืน เกิดการผิดนัดชำระหนี้ ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความสามารถของประเทศที่จะชําระหนี้ก็จะถูกกระทบ วิกฤติก็จะเกิด

2.วิกฤติเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่หรือประเทศเล็ก ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกําลังพัฒนา ประเทศที่มีระบบการเงินแบบทันสมัยรุดหน้าหรือมีระบบการเงินแบบพื้นๆ ถ้าความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเจ้าหนี้เกี่ยวกับความสามารถของประเทศในการชำระหนี้มีปัญหา วิกฤติก็จะเกิด

เรื่องที่ต้องระวัง การก่อหนี้กับวิกฤติเศรษฐกิจ

3.ความเป็นหนี้ของคนในประเทศไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน จะเป็นผลจากนโยบายรัฐที่ให้รัฐบาลกู้เงินมากเกินหรือสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนกู้เงิน และสถาบันการเงินปล่อยกู้โดยไม่ระมัดระวังเรื่องความเสี่ยง นำไปสู่การก่อหนี้ที่สูงเกินความสามารถที่จะชำระคืน และวิกฤติจะเกิดขึ้นเมื่อภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจเปลี่ยน

ในแง่พลวัตระหว่างการก่อหนี้กับวิกฤติเศรษฐกิจ พัฒนาการของปัญหาจะคล้ายกัน เริ่มต้นด้วยปริมาณหนี้ที่สูงที่กู้โดยภาครัฐหรือเอกชน การก่อหนี้ทําให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ก็สร้างแรงกดดันต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งการขาดดุลการคลัง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อที่สูง และค่าเงินที่อ่อนลง

ทั้งหมดสะท้อนความไม่สมดุลที่มีในระบบเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายที่มากเกินหรือเกินตัว เป็นสัญญาณความเปราะบางที่ต้องแก้ไข 

ถ้าไม่แก้ไข เศรษฐกิจก็ยิ่งเปราะบาง ไม่เข้มแข็งพอที่จะทัดทานแรงกระทบหรือช็อกจากภายนอก กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจ เกิดการผิดนัดชำระหนี้ในภาคธุรกิจ หนี้เสียเพิ่มมากขึ้นกระทบเสถียรภาพของระบบธนาคาร

นักลงทุนเริ่มวิตกกับความสามารถของประเทศที่จะชำระหนี้ เครดิตประเทศถูกปรับลด นักลงทุนและเจ้าหนี้ขาดความเชื่อมั่น เกิดเงินทุนไหลออกต่อเนื่องรุนแรง ค่าเงินอ่อนจนไร้เสถียรภาพ นำไปสู่การเกิดขึ้นของวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด

นี่คือพลวัตที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงสิ่งที่ต้องระวังในการใช้หนี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และความสำคัญที่ประเทศต้องมีความสามารถในการหารายได้ที่สูงขึ้นถ้าจะก่อหนี้มากขึ้น

ที่สำคัญสุดเมื่อหนี้ของประเทศเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงและอันตราย การแก้ปัญหาจะไม่ง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นจะดีที่สุดโดยระมัดระวังเรื่องการก่อหนี้

เรื่องที่ต้องระวัง การก่อหนี้กับวิกฤติเศรษฐกิจ

ประเทศไทยปัจจุบัน ระดับหนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งทั้งในภาครัฐ ที่ร้อยละ 61 ของจีดีพี หนี้ภาคธุรกิจที่ร้อยละ 171 ของจีดีพี และหนี้ครัวเรือนที่ร้อยละ 90 ของจีดีพี ทำให้การใช้หนี้เป็นตัวกระตุ้นหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากนี้ไปเป็นเรื่องที่ต้องระวังมาก 

โอกาสที่ประเทศจะเกิดวิกฤติจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและการตัดสินใจของคนสามกลุ่ม 1.รัฐบาลที่กําหนดนโยบายและเป็นผู้กู้ในส่วนของหนี้ภาครัฐ 2.บริษัทธุรกิจผู้เป็นผู้กู้ในภาคเอกชน และ 3.สถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้ให้กับทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และครัวเรือน

ความมีวินัยและความระมัดระวังของคนสามกลุ่มนี้ในการก่อหนี้ จึงสําคัญต่อการลดความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติ และการรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

เรื่องที่ต้องระวัง การก่อหนี้กับวิกฤติเศรษฐกิจ

คอลัมน์เศรษฐศาสตร์บัณฑิต 

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]