‘สภาพัฒน์’ ฉายภาพหนี้เสียไทย ‘NPLs’ สูงกว่าจริง 3 เท่าหลังรวมเครดิตบูโร

‘สภาพัฒน์’ ฉายภาพหนี้เสียไทย ‘NPLs’ สูงกว่าจริง 3 เท่าหลังรวมเครดิตบูโร

“สภาพัฒน์” ฉายภาพหนี้ครัวเรือนไทยยังสูงตัวเลขหนี้ NPLs จากฐานข้อมูลเครดิตบูโรสูงกว่าฐาน NPLs ธนาคารพาณิชย์ถึง 3 เท่า อยู่ที่7.6% ขณะที่ NPL ธนาคารพาณิชย์แค่ 2.6% สะท้อนลูกหนี้ที่อยู่นอกระบบธนาคารหนี้สูงห่วงกระทบเศรษฐกิจ ส่วนหนี้เสียสินเชื่อรถยนต์สูงสุด14 ไตรมาส

วานนี้ (28 ส.ค.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสสองปี 2566 บทความเรื่อง “หนี้สินคนไทย ภาพสะท้อนจากข้อมูลเครดิตบูโร”

นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่าเมื่อพิจารณาข้อมูลหนี้สินของคนไทยผ่านฐานข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NBC) ที่เป็นข้อมูลที่มีรายละเอียดของลูกหนี้ และการรายงานมูลค่าหนี้จัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ (SML) และหนี้เสีย (NPL) ที่มีความครอบคลุมทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ หรือข้อมูลเครดิตบูโรทำให้พบว่าสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนของไทยในไตรมาสที่ 1/2566 มีมูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 12.9 ล้านล้านบาท มีบัญชีหนี้สินเชื่อในระบบประมาณ 83.1 ล้านบัญชี

หนี้เสียเครดิตบูโรสูงกว่าหนี้เสียในระบบธนาคาร 3 เท่า

ทั้งนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 7.6% แต่หากพิจารณาจากหนี้เสียที่เกิดจากธนาคารพาณิชย์พบว่ามีเพียง 2.6% ซึ่งน้อยกว่าข้อมูลของเครดิตบูโรกว่า 3 เท่า หนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่  1.4 แสนล้านบาท ขณะที่ข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด มีมูลค่ามากกว่าที่ 9.8 แสนล้านบาท

สะท้อนให้เห็นว่าลูกหนี้ที่มีปัญหาเป็นลูกหนี้ที่กู้เงินจากแหล่งหนี้อื่นๆที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มแรงงานตอนต้น-แรงงานสูงอายุก่อหนี้สูง

โดยลูกหนี้ที่เข้าข่ายต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษได้แก่ กลุ่มแรงงานตอนต้น (อายุต่ำกว่า 30ปี) และกลุ่มผู้สูงอายุ (50 – 59 ปี) โดยกลุ่มวัยแรงงานตอนต้นที่มี NPLs เพิ่มขึ้น 4.1% ต่อปี หรือกลุ่มเจนวายมีพฤติกรรมการใช้จ่ายไปกับทัศนคติที่ว่า “ของมันต้องมี” ทำให้การก่อหนี้เพิ่มขึ้น และขาดการวางแผนการเงินสำหรับอนาคต

ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุพบว่ามีหนี้เสียขยายตัวสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยระหว่างปี 2563 – 2565 กลุ่มผู้สูงอายุที่เป็น NPLs เพิ่มขึ้น 10.2% ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง ทำให้ความสามารถในการหารายได้ และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง

นอกจากนั้นในส่วนของการก่อหนี้จากการซื้อรถยนต์พบว่าเป็นหนี้ที่ลูกหนี้มีพฤติกรรมการผิดนัดชำระหนี้มากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่าหนี้เสียและความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยในไตรมาส1/2566 ที่ผ่านมาหนี้ NPL ของสินเชื่อยานยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 30.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หรือสูงสุดรอบ 14 ไตรมาสสวนทางกับหนี้สินครัวเรือนประเภทอื่นๆที่ปรับตัวลดลงทั้งหนี้สินที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลอื่นๆที่ลดลงซึ่งถือว่าเป็นสินเชื่อที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเพราะยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น

คนอายุต่ำกว่า 30 ปีเสี่ยงถูกยึดรถเกือบแสนคัน 

ทั้งนี้หากดูข้อมูลจากเครดิตบูโรพบว่ากลุ่มอายุที่มีสัดส่วนเป็น NPLs แล้วถูกยึดรถมากที่สุดคือกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 30 ปี ที่มีจำนวนรถเสี่ยงถูกยึดกว่า 9.5 หมื่นคัน แต่กลุ่มที่มีหนี้สินส่วนนี้มากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงอายุที่มี NPLs ต่อสินเชื่อรวมที่ 8.6% ในปี 2565

นอกจากนี้ สศช.ยังพบว่าจากข้อมูลเครดิตบูโรยังมีหนี้ครัวเรือนอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ อาจเป็นหนี้ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งในปี 2565 หนี้อื่น ๆ มีสัดส่วนต่อมูลค่าหนี้ทั้งหมดกว่า 18.8% อีกทั้งยังมีสัดส่วน NPLต่อสินเชื่อรวมสูงเป็นอันดับสอง และมีลูกหนี้ที่เป็น NPL รวมเกือบ 2 ล้านราย

โดยการแก้ปัญหาควรมีแนวทาง ดังนี้

1.ขยายความครอบคลุมของสมาชิกเครดิตบูโร โดยมีมาตรการจูงใจให้ผู้ให้สินเชื่อทุกกลุ่มเข้าเป็นสมาชิก NCBเช่น งดเว้นเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า และกำหนดให้ผู้ให้สินเชื่อต้องใช้ข้อมูลของ NCB ประกอบด้วยทุกครั้ง

2.ต้องมีการกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดำเนินการตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเข้มงวด โดย ธปท. มีการจัดทำเกณฑ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ควรมีการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินการของผู้ให้สินเชื่อร่วมด้วย

3.หน่วยงานรัฐในฐานะคนกลางต้องส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างรายได้และภาระหนี้ หรือระยะเวลาที่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้

4.ส่งเสริมการปลูกฝังความรู้ทางการเงิน (Financialliteracy)และวินัยทางการเงินต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย โดยวัยเด็ก/วัยเรียนควรมีหลักสูตรที่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ขณะที่วัยทำงานควรสร้างความตระหนักรู้ในการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการเก็บออม และกลุ่มผู้สูงอายุควรคำนึงถึงการใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็น และระมัดระวังในการก่อหนี้

และ 5.ดำเนินนโยบายที่ไม่กระตุ้น ให้เกิดการก่อหนี้หรือกระทบต่อการชำระหนี้ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้สะสมจำนวนมาก เช่น เกษตรกร จากนโยบายพักชำระหนี้ที่สร้างแรงจูงใจการไม่ชำระหนี้ให้กับประชาชน

 

‘สภาพัฒน์’ ฉายภาพหนี้เสียไทย ‘NPLs’ สูงกว่าจริง 3 เท่าหลังรวมเครดิตบูโร

อัตราว่างงานลดลงเหลือ 1.06% 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่าสำหรับภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 2 ปีนี้พบว่ามีประเด็นสำคัญคือ การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นโดยมีผู้มีงานทำจำนวนทั้งสิ้น 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวของปีก่อน 1.7% โดยเป็นการขยายตัวของแรงงานนอกภาคเกษตร 2.5% จากสาขาโรงแรม และภัตตาคารที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ชั่วโมงการทำงานรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 42.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ค่าจ้างแรงงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 14,032 บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่อัตราการว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น ลดลงจากปีก่อนที่เคยอยู่ที่ 1.37% มาอยู่ที่ 1.06% โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 4.3 แสนคน

อย่างไรก็ตามมีปัจจัยในด้านแรงงานที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงต่อไป คือการขาดแคลนแรงงานในสาขาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากพิจารณาตำแหน่งงานว่างและจำนวนแรงงานที่ได้บรรจุงานในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2565 ถึงเดือนมิถุนายน ปี 2566 จะพบว่า ผู้สมัครงาน 1 คนมีตำแหน่งงานรองรับถึง 5 ตำแหน่ง สะท้อนว่าความต้องการแรงงานของนายจ้าง และความสามารถของแรงงานไม่ตรงกัน

 

แรงงานทักษะต่ำสูงอายุ 1.3 ล้านคน

นอกจากนี้ยังต้องมีการการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเกษียณอายุของแรงงานทักษะต่ำ โดยไตรมาสสองปี 2566 มีแรงงานทักษะต่ำในภาคเอกชนที่กำลังจะเกษียณอายุกว่า 1.3 ล้านคน ขณะที่แรงงานที่จะเข้ามาทดแทนมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ในระยะต่อไปผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยปริมาณฝนสะสมในปัจจุบันมีค่าน้อยกว่าค่าปกติในทุกภูมิภาค ซึ่งการลดลงของปริมาณน้ำจะส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตรในระยะต่อไป

ในส่วนของหนี้สินครัวเรือนข้อมูลในไตรมาสที่ 1/2566 พบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้น3.6%  โดยหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 90.6% ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน

โดยหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสนี้สศช.ได้มีการปรับฐานหนี้ครัวเรือนให้สอดคล้องกับการปรับนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้มีการเพิ่มหนี้ในส่วนต่างๆเช่น กองทุนเพื่อกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้สหกรณ์ หนี้การเคหะแห่งชาติ เป็นต้น รวมมูลหนี้ 7 แสนล้านบาทเข้ามาด้วยแล้ว

หากพิจารณาการก่อหนี้ครัวเรือนรายวัตถุประสงค์ พบว่า ครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนภาพรวมลดลงเล็กน้อย โดยหนี้ NPL มีมูลค่า 1.44 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วน NPLต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่2.68% เพิ่มขึ้น 2.62% ของไตรมาสก่อน

ประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญ

ทั้งนี้มีประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่

1.หนี้เสียและความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

2.การติดกับดักหนี้ของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ สะท้อนจากพฤติกรรมการกู้ยืมของลูกหนี้สหกรณ์ส่วนใหญ่เพื่อใช้สอยส่วนตัวและเพื่อชำระหนี้สินเดิม

และ3.การส่งเสริมให้คนไทยมีทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้องแม้ว่าคนไทยจะมีระดับความรู้ทางการเงินดีขึ้น แต่การสำรวจการติดตามระดับความรู้ และการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือน ปี 2565 พบว่า ทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้องของคนไทยลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 โดยพบว่าให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงินลดลง