หนี้เสียท่วม ใครได้ประโยชน์?
สืบเนื่องจากบทความเรื่องหนี้ครัวเรือนไทยที่ได้เขียนไปเมื่อเดือนก่อนหน้า สำหรับในเดือนนี้อยากจะเชิญชวนนักลงทุนทุกท่านมาวิเคราะห์ต่อ เกี่ยวกับเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ดูเหมือนว่ายังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงได้ในระยะเวลาอันสั้น และยังมีความเสี่ยงที่หนี้เหล่านี้จะกลายเป็นหนี้เสีย
ล่าสุดจากการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของสถาบันการเงินต่าง ๆ พบว่ายังมีความเสี่ยงจากหนี้เสียที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน แน่นอนว่าเมื่อมีผู้เสียประโยชน์ก็ย่อมต้องมีผู้ได้ประโยชน์ ซึ่งผู้ที่ได้รับอานิสงส์จากการที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นก็คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่มีโอกาสในการซื้อหนี้เสียมาบริหารเพิ่มมากขึ้น
ทุกๆท่านอาจจะพอทราบถึงสถานการณ์ตอนนี้ที่หนี้เสียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จากข้อมูลของเครดิตบูโร พบว่าหนี้เสียของไทย ณ สิ้นสุดไตรมาสที่ 2 กลับมาพุ่งทะลุ 1 ล้านล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสที่ 1 ที่ 9.5 แสนล้านบาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อ โดยหนี้ส่วนที่เสียไปแล้วประกอบไปด้วยหนี้ซื้อรถยนต์และหนี้บ้านที่มีสัดส่วนค่อนข้างมาก รองลงมาคือหนี้ส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต และหนี้เกษตร ตามลำดับ
โดยสาเหตุที่หนี้เสียมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น มาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้หนี้ครัวเรือนที่สะสมมาตั้งแต่อดีตตกชั้นเป็นหนี้เสียมากขึ้นเรื่อย ๆ ย้อนกลับไปตั้งแต่สถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่ทำให้รัฐบาลต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถคันแรก ต่อมาด้วยโครงการบ้านหลังแรก กับมาตรการ LTV ของแบงก์ชาติ เพื่อสนับสนุนการจับจ่ายของประชาชน อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่อาจยังไม่เอื้ออำนวย
ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลงจนตกชั้นมาเป็นหนี้เสียในที่สุด จนต่อมาก็ถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ยิ่งทำให้ลูกหนี้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากมากขึ้น จำนวนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด (ลูกหนี้รหัส 21) เพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจัยล่าสุดคือการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา ยิ่งเป็นการเร่งให้หนี้เสียเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ที่ทางแบงก์ชาติมีมาตรการพักชำระหนี้ แม้จะช่วยบรรเทาการจ่ายคืนของลูกหนี้ได้อยู่บ้าง แต่เมื่อมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เคยมีกำลังทยอยจบลง ก็ทำให้จำนวนหนี้เดิมที่เคยเป็นหนี้ Special Mentioned (SM) ตกชั้นกลายมาเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น
ถามว่าบริษัทบริหารสินทรัพย์จะได้ประโยชน์จากการที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง ประเด็นแรกที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องจำนวนของหนี้เสียที่มีการนำออกมาขาย ซึ่งเมื่อช่วงปี 2563-2565 สถาบันการเงินมีการนำหนี้ออกมาขายแล้วประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยประมาณครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ที่นำออกมาขายในปี 2565 และล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 มีหนี้เสียที่นำออกมาขายแล้วเกือบ 7 หมื่นล้านบาท และยังมีแนวโน้มที่จะนำออกมาขายต่อในปีนี้ ดังนั้น เป็นโอกาสดีที่ AMC จะซื้อหนี้มาบริหารได้มากขึ้น
ประเด็นที่ 2 คือเรื่องคุณภาพของหนี้ ที่แต่ละบริษัทต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าหนี้ที่สถาบันการเงินนำออกมาขายในช่วงนี้เป็นหนี้ที่ค่อนข้างใหม่ นั่นหมายความว่าโอกาสที่บริษัทบริหารสินทรัพย์จะสามารถตามลูกหนี้เจอ และสามารถเก็บหนี้ได้มีมากกว่าหนี้ที่มีอายุความนาน รวมถึงดอกเบี้ยที่เก็บได้ก็น่าจะสูงกว่าอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จากที่กล่าวข้างต้นว่าหนี้ที่นำออกมาขายเป็นหนี้ใหม่ จึงพบว่าราคาหนี้ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์เหล่านี้ซื้อมาจะมีราคาแพงกว่าหนี้ในอดีต ทำให้หลาย ๆ บริษัทที่เพิ่งเข้ามาทำธุรกิจนี้อาจไม่สามารถประมูลซื้อหนี้มาบริหารได้ นอกจากนี้ แม้ว่าจะสามารถประมูลหนี้มาได้ แต่บริษัทบริหารสินทรัพย์ก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องของเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ นั่นหมายความว่าแม้จะตามตัวลูกหนี้เจอ แต่ก็ไม่สามารถเก็บเงินจากลูกหนี้ได้อยู่ดี
ปัจจุบันพบว่ามีบริษัทบริหารสินทรัพย์เห็นโอกาสจากหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนบริษัทที่ทำธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว แต่ก็ใช่ว่าธุรกิจบริหารสินทรัพย์ทุกที่จะดีเสมอไป ดังนั้น จากความเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น หากจะเลือกลงทุนในบริษัทบริหารสินทรัพย์ คงต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งความสามารถในการเก็บหนี้ โครงสร้างเงินทุนของบริษัท และความเชี่ยวชาญของตัวบริษัทเอง