'เศรษฐา' เร่งเครื่องลดค่าครองชีพ เล็งหั่นภาษีดีเซล - อัดเงินดิจิทัล
ครม.นัดพิเศษ หารือเตรียมแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 11 ก.ย.นี้ “เศรษฐา” เร่งเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ปลุกเศรษฐกิจ ยืนยันงบประมาณพร้อม เร่งแผนลดค่าครองชีพ “คลัง” เล็งลดภาษีดีเซลหั่นราคาน้ำมัน “คมนาคม” ไม่ทิ้งรถไฟฟ้า 20 บาท
สำหรับ ร่างนโยบายรัฐบาลได้พิจารณาถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่กระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ รวมทั้งมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ต้องเตรียมรับมือ เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เอลนีโญ
รวมทั้งมีประเด็นที่กำลังส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 90% ของจีดีพี รวมถึงปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงกว่า 61% ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นและจะส่งผลต่อข้อจำกัดด้านการคลังและการบริหารประเทศในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจไทยย้อนหลังอยู่ต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง
จากปัจจัยดังกล่าวทำให้รัฐบาลมีนโยบายระยะสั้น เพื่อจุดเครื่องยนต์เศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยเตรียมทำ Digital Wallet เพื่อจ่ายเงินคนละ 10,000 บาท วงเงินรวม 560,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย การลงทุน การจ้างงานและรัฐบาลได้ภาษีมากขึ้น
นอกจากนี้มีนโยบายเร่งด่วน 4 ด้าน คือ
1.การแก้ปัญหาหนี้ของภาคเกษตร ภาคธุรกิจและภาคประชาชน โดยต้องไม่ขัดวินัยการเงินและไม่เกิดภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard)
2.ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันและลดค่าก๊าซหุงต้ม ซึ่งจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานและจัดหาแหล่งพลังงานเพิ่ม
3.สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซา ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซาและจัดทำ Fast Track VISA
4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจัดทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยขึ้น
นายเศรษฐา เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม.นัดพิเศษ ว่า พรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันถึงประเด็นภาคการเกษตรทั้งการขยายตลาด และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยการวางแผนการตลาดส่งออกต้องมีแนวทางที่ไม่กระทบการบริโภคในประเทศ อีกทั้งต้องคำปัญหาเอลนีโญเพราะอาจกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวบรวมข้อมูลมาเสนอ ครม.นัดแรกวันที่ 13 ก.ย.นี้ เพื่อประกาศมาตรการรับมือ
ส่วนประเด็น ค่ารถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ที่ไม่ได้บรรจุในร่างนโยบายรัฐบาลที่จะถแลงต่อรัฐสภา แต่ยืนยันว่ารัฐบาลมุ่งเน้นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบทั้งทางน้ำ อากาศ ถนนและราง
ทั้งนี้ประเด็นรถไฟฟ้านั้นต้องมาดูว่าเชื่อมต่อทุกสายให้เข้ากันและใช้บัตรใบเดียว ดังนั้นจึงต้องดึงเรื่องกลับมาดูว่าค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมนั้นเท่าไหร่ และรัฐบาลจะต้องชดเชยจุนเจือเท่าไหร่ในแง่ของงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการทั้งหมด
ดังนั้นเรื่องนี้ขอเวลานิดนึง แต่ถูกบรรจุไว้เป็นเรื่องคร่าวๆ อยู่แล้วที่รัฐบาลต้องดำเนินการ ขอเวลาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ไปทำงานก่อน กระบวนการทุกเรื่องเป็นเรื่องเร่งด่วน
“ไม่ใช่ว่าเราจะทำทันที เริ่มดูแลทันที เราต้องเอาระบบขนส่งทางรางทั้งหมดมาเชื่อมต่อให้เป็นรูปธรรมและเป็นบัตรใบเดียว อยู่ที่ว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะเท่าไหร่ ส่วนประเด็นว่าจะได้เห็นภายในกี่ปี ขอทำงานก่อนแล้วกัน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีคมนาคม ยังไม่ได้เข้ากระทรวงเลย ขอเวลาก่อนนิดนึง ทราบว่าทุกเรื่องเร่งด่วนหมด” นายเศรษฐา กล่าว
ไม่ทิ้งนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ต้องใช้เวลาเจรจาเพราะเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน และรถไฟฟ้ามีหลายสี แต่ละสีมีระยะสัมปทานที่แตกต่างกัน ขั้นตอนการเจรจาใช้เวลา เมื่อเรามีระบบที่จะให้ราคา 20 บาทตลอดสาย ผู้ประกอบการจะต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในระบบตั๋วร่วม
อีกทั้งกรณีนี้ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีอยู่แล้ว แต่รถไฟฟ้าบีทีเอสยังไม่มี ฉะนั้นก็ต้องเจรจากับบีทีเอสให้ติดตั้งระบบตั๋วร่วมนี้ ต้องใช้งบประมาณพันล้านบาท ดังนั้นต้องเจรจาให้บีทีเอสช่วยติดตั้งให้ แต่ถึงมีเงินก็ใช่จะติดตั้งได้เลยต้องใช้เวลา แต่หากรัฐบาลเพื่อไทยทำนโยบายนี้จะทำให้รายได้ของรถไฟฟ้าและผู้ประกอบการมีเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น จะให้อะไรคืนกับรัฐต้องพิจารณากัน แต่ยืนยันนโยบายนี้มีแน่นอน และไม่น่าจะเกิน 2 ปี
ส่วนกรณีที่นโยบายนี้ไม่มีระบุในคำแถลงนโยบายรัฐบาลนั้น เนื่องจากรัฐบาลระบุนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ทำเพื่อประชาชน นโยบายนี้ก็มีส่วนอยู่ เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำ แต่คงไม่ได้ไปเขียนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพราะเป็นส่วนย่อยของนโยบายใหญ่ แต่เรื่องนี้จะมีการชี้แจงเป็นคำพูดอีกที ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำสัญญา
“ระหว่างที่ยังไม่สามารถกำหนดใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสายได้ ก็เชื่อว่าจะมีการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าอยู่บ้าง เพราะระบบตั๋วร่วมไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้ทันที แต่เรื่องนี้ก็เชื่อว่าเอกชนจะให้ความร่วมมือ เพราะถ้าเราลดราคาค่าโดยสารลง จากผลการศึกษามีตัวเลขผู้โดยสารเพิ่มขึ้นกว่า10% รายได้เอกชนก็เพิ่มขึ้นแน่นอน เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นเชื่อว่าเขาต้องตอบรับ” นายสุริยะ กล่าว
ศึกษาข้อมูลอุดหนุนค่ารถไฟฟ้า
นายสุริยะ กล่าวทิ้งท้ายว่า กรณีที่ต้องประเมินวงเงินรัฐชดเชยภาคเอกชนหากดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น เมื่อวานนี้ตนได้ศึกษาข้อมูลที่จัดทำโดยกรมขนส่งทางรางได้ทำตัวเลขขึ้นมา ซึ่งได้มอบหมายให้ไปหารือร่วมกับนักวิชาการ ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อประเมินตัวเลขเพิ่มเติม และในสัปดาห์หน้าจะมานั่งคุยกันเรื่องตัวเลขนี้อีกครั้ง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้หารือกับพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล และนำนโยบายพรรครวมไทยสร้างชาติใส่ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งส่วนใหญ่ใกล้เคียงกัน ยืนยันว่าจะดำเนินการสานต่อโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของรัฐบาลที่ผ่านมา
“คลัง” เล็งลดภาษีน้ำมันดีเซล
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมสรรพสามิตกำลังจัดทำข้อมูลการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยจะเสนอให้ลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 2 บาท จากปัจจุบันเก็บลิตรละ 6 บาท เพื่อให้ราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท ตามนโยบายรัฐบาล
ทั้งนี้ ต้องหารือกระทรวงพลังงานและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในกรณีลดภาษีสรรพสามิตแล้วจะนำไปใช้ส่วนใด เช่น นำภาษีที่ลดไปลดราคาขายปลีกน้ำมันให้ประชาชนทั้งหมด หรือนำไปช่วยชดเชยภาระให้แก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบางส่วน
“การลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรทุก 1 บาท จะกระทบรายได้ภาษีเดือนละ 2,000 ล้านบาท ในกรณีลดภาษีลิตรละ 2 บาท จะทำให้รายได้หายไปเดือนละ 4,000 ล้านบาท เป็นระดับที่กรมสรรพสามิตดูแลได้ และน้อยกว่ารัฐบาลชุดก่อนที่ลดถึงลิตรละ 5 บาท แต่จะลดกี่เดือนต้องรอฟังจากฝ่ายนโยบาย” นายจุลพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลที่ผ่านมาลดภาษีดีเซล 7 ครั้ง เป็นเงินภาษีที่เสียไป 1.58 แสนล้านบาท
“พรหมินทร์” ยืนยันงบมีพร้อม
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่วมกันถึงร่างนโยบายรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่างร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลและนำมาปรึกษาหารือกับส่วนราชการทั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และสำนักงบประมาณ เพื่อช่วยเข้ามาดูทั้งหมดนี้พร้อมที่จะนำเสนอและนายกรัฐมนตรีและพร้อมที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 11 ก.ย.2566
ส่วนประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลที่อาจจะไม่ตรงกับที่เคยหาเสียงไว้ นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ต้องเข้าใจคำว่านโยบายของรัฐบาลเป็นกรอบใหญ่ที่ทุกพรรคนำมาผนวกกัน โดยพูดถึงเป้าหมาย ไม่ได้ลงในเรื่องรายละเอียดทุกอัน โดยรายละเอียดทุกอย่างจะอยู่ในการปฏิบัติ แต่รับรองว่าครอบคลุมทุกประเด็นแน่นอน และเป็นกรอบใหญ่ที่จะทำให้สำเร็จ
สำหรับประเด็นแหล่งเงินที่จะนำมาทำนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มีความชัดเจนหรือยังและจะนำมาจากไหน นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า คณะทำงานกำลังทำงานอยู่และไปดูรายละเอียดในวันที่ออกมา โดยรับรองว่าพร้อมแน่นอน
เมื่อถามว่า แหล่งเงินในโครงการนี้จะแถลงในสภาอย่างไร นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้เตรียมไว้หมดแล้ว คิดว่าจะปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนจะเปิดได้หรือไม่ตนคิดว่าหากเปิดเผยไปครึ่งๆ กลางๆ แล้ววิจารณ์กัน ซึ่งคิดว่าเราทำสำเร็จได้แน่นอน และพร้อมเมื่อไหร่เราจะบอกกับประชาชนถึงวิธีปฏิบัติทั้งหมด