ชวนรู้จักรถไฟขอนแก่น - หนองคาย ‘สุริยะ’ ลุยประมูลสร้างผลงานแรก
“สุริยะ” รัฐมนตรีป้ายแดง ประกาศนโยบายคมนาคมลุยยกระดับระบบขนส่งทางราง เดินหน้าลงทุนรถไฟทางคู่เฟส 2 นำร่อง “ขอนแก่น - หนองคาย” เพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 นับเป็นอีกหนึ่งแผนพัฒนาขีดความสามารถการขนส่งทางรางของประเทศ โดยโครงการเหล่านี้ ประกอบด้วย รถไฟทางคู่ 7เส้นทาง รวมวงเงินลงทุนกว่า 2.71 แสนล้านบาท ถูกยกยอดมาจากรัฐบาลก่อนหน้า เพื่อส่งไม้ต่อให้รัฐบาล “เศรษฐา 1” เร่งขับเคลื่อน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุชัดในวาระเข้ากระทรวงคมนาคมเพื่อเริ่มงานวันแรก เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ประกาศชัดว่านโยบายสำคัญของการบริหารงานในกระทรวงคมนาคมยุคนี้นอกจากจะแก้ไขปัญหาตามที่รัฐบาลมอบหมาย และเป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนแล้ว เรื่องการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศเป็นอีกหนึ่งเรื่องเร่งด่วน
สืบเนื่องจากระบบโลจิสติกส์ครองสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) สูงถึง 15% แต่กลับพบว่าในนั้นมีการขนส่งระบบน้ำและรางเพียง 2% ดังนั้นไทยต้องลงทุนพัฒนาโลจิสติกส์เหล่านี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยเฉพาะระบบขนส่งทางรางอย่างรถไฟทางคู่ ต้องมีการปรับปรุงให้ตรงเวลา เพื่อทำให้การขนส่งนั้นมีประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
“การผลักดันระบบรางเพื่อเพิ่มขีดความสามารถเป็นเรื่องที่ต้องทำ โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ที่มีการศึกษาความเหมาะสมและมีความพร้อมในการลงทุนแล้ว ต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนจริง นี่คือสิ่งที่ตั้งใจมากที่จะทำ”
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย สถานะโครงการก่อนหน้านี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ทำการศึกษาโครงการและความเหมาะสมด้านการลงทุนแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคา โดย ร.ฟ.ท.ให้ความสำคัญกับโครงการรถไฟทางคู่สายนี้ เนื่องจากเล็งเห็นว่าจะเป็นโครงการที่ทำให้โครงข่ายทางรางสมบูรณ์และสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างไทย ลาว และจีน
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น - หนองคาย มีระยะทาง 167 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 29,748 ล้านบาท ประกอบด้วย
- ค่าจ้างที่ปรึกษา สำรวจอสังหาริมทรัพย์ราว 9 ล้านบาท
- ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 369 ล้านบาท
- ค่าที่ปรึกษาจัดการประกวดราคาประมาณ 7 ล้านบาท
- ค่าก่อสร้าง 28,759 ล้านบาท
- ค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 604 ล้านบาท
ขณะที่รูปแบบโครงการจะเป็นงานก่อสร้างระดับโครงสร้างพื้นดิน และทางยกระดับรถไฟ สามารถทำความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงโครงการรถไฟระหว่างประเทศไทย ลาว จีน ในการขนส่งสินค้า และเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟลาว-จีน ที่เป็นรางขนาด 1.435 เมตร (European Standard Gauge) เข้าสู่รางรถไฟไทย 1 เมตร (Meter Gauge) โดยโครงการจะมีสถานีให้บริการรวมทั้งหมด 15 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 3 แห่ง ได้แก่
1.สถานีโนนสะอาด
2.สถานีหนองตะไก้
3.สถานีนาทา (จุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า Transshipment Yard)