‘TDRI’ ห่วงหนี้สาธารณะไทยพุ่ง แนะอุดหนุนราคาพลังงานแค่ระยะสั้น

‘TDRI’ ห่วงหนี้สาธารณะไทยพุ่ง แนะอุดหนุนราคาพลังงานแค่ระยะสั้น

"ทีดีอาร์ไอ"แนะรัฐบาลควรอุดหนุนราคาพลังงานทั้งน้ำมัน และไฟฟ้าในระยะสั้น ไม่ควรใช้งบประมาณหรือการยืดหนี้อุ้มราคาพลังงานระยะยาว ชี้หนี้กองทุนน้ำมันฯและหนี้กฟผ.เป็นหนี้สาธารณะ ห่วงอุดหนุนพลังงานทำเป้าหมายการลดคาร์บอนของประเทศได้รับผลกระทบ

“รัฐบาลเศรษฐา1” เตรียมที่จะนำมาตรการลดราคาพลังงานเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 13 ก.ย.ที่จะถึงนี้หลังจากที่ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมาว่าการลดราคาพลังงานจะเป็นนโยบายที่ช่วยลดค่าครองชีพประชาชน โดยคำแถลงของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแถลงว่า

‘TDRI’ ห่วงหนี้สาธารณะไทยพุ่ง แนะอุดหนุนราคาพลังงานแค่ระยะสั้น

“การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ รัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการ ราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที”

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าการลดราคาพลังงานถือว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะทำก่อนจะแจกเงินดิจิทัล โดยรัฐบาลจะทำในเรื่องของการปรับลดค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าเพื่อหวังที่จะลดค่าครองชีพและทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกที่ดีกับรัฐบาล และคาดหวังว่าทำให้คนมีกำลังในการใช้จ่าย

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าจะทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นเนื่องจากทั้งหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)นั้นถือเป็นหนี้สาธารณะด้วยโดยปัจจุบันหนี้กองทุนน้ำมันฯนั้นยังสูงในระดับหลายหมื่นล้าน ส่วนหนี้ของ กฟผ.ที่ช่วยแบกรับค่าไฟฟ้าอยู่ที่กว่า 1 แสนล้านบาท  

“การแทรกแซงราคาพลังงานหากจะทำก็หวังว่ารัฐบาลจะทำสั้นๆเพราะหากทำต่อเนื่องระยะยาวจะเกิดปัญหากับฐานะการคลังภาครัฐที่หนี้สาธารณะจะสูงขึ้น หากไปรวมเอากับงบประมาณภาครัฐในอนาคตจะต้องไปอุ้มหนี้ของกองทุนน้ำมันที่มีการติดลบหลายหมื่นล้านบาท รวมทั้งหนี้ของ กฟผ.ที่ชดเชยค่าไฟฟ้าในระดับแสนล้านบาทก็จะเพิ่มหนี้ภาครัฐให้เพิ่มขึ้น”  

ห่วงอุดหนุนราคาพลังงานทำการใช้พลังงานไร้ประสิทธิภาพ

ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวต่อว่าการอุดหนุนราคาพลังงานจะทำให้การใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่สวนทางกับทิศทางการดำเนินงานของประเทศต่างๆที่มุ่งไปในการลดคาร์บอน การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพทุกประเทศทำให้พลังงานมีราคาแพงขึ้นเพื่อทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพ

เช่น ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียร์ที่มีการเก็บภาษีคาร์บอน ภาษีน้ำมันเพิ่ม หากปล่อยคาร์บอนออกมาก 1 ตันจะเก็บภาษีคาร์บอนเพิ่มอีกหลายร้อยยูโร หากประเทศไทยมีการอุดหนุนราคาพลังงานมากขึ้น

ซึ่งนอกจากจะทำให้กองทุนน้ำมันติดลบมากขึ้น ก็จะทำให้การปรับตัวไปสู่การลดคาร์บอนนั้นทำยากขึ้น การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ไม่เกิดขึ้น เป้าหมายในเรื่องนี้ต้องดูในเรื่องระยะยาวมากกว่า