แจกเงินดิจิทัลอย่างไรให้คุ้มค่า นักวิชาการแนะวางเงื่อนไขเพิ่มทักษะอาชีพ
นักวิชาการนิด้าแนะแนวทางแจกเงินดิจิทัลคนละ1 หมื่นบาท ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ชี้ควรวางเงื่อนไขให้พัฒนาทักษะอาชีพรับทักษะใหม่ๆ เพื่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ แนะวางเงื่อนไขให้เกิดการทยอยใช้จ่ายในเศรษฐกิจชุมชน เน้นเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินหลายรอบ
รัฐบาล “เศรษฐา1” ได้มีการบรรจุนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet) เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ถึงระดับฐานราก
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่าการที่รัฐบาลออกมาตรการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยหวังให้เกิดการใช้จ่าย บริโภคของประชาชนเนื่องจากเห็นถึงข้อจำกัดในการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยที่มีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 91.6% ซึ่งทำให้กำลังใช้จ่ายของคนไทยมีจำกัด
หากจะให้มีการใช้จ่ายเพิ่มรัฐบาลจำเป็นที่ต้องเอาเงินไปใส่มือประชาชนเพื่อให้ประชาชนไปใช้จ่าย แล้วรัฐเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่าย และคาดหวังให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนคึกคักซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตามที่มาของเงินจำนวนนี้เป็นเงินกู้ซึ่งอาจจะเป็นการกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจมาใช้ก่อนแล้วรัฐบาลตั้งงบประมาณใช้คืนภายหลัง การกู้ขาดดุลงบประมาณ รวมทั้งอาจมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อกู้เงินเพิ่มเติมซึ่งจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)เพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ระดับ 61.7% ต่อจีดีพี ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดคือ “เงินมีต้นทุน” จะทำอย่างไรให้เงินจำนวนนี้มีความคุ้มค่ามากที่สุด สามารถหมุนเวียนและสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากที่สุด
“การกำหนดเทคโนโลยีที่จะมาใช้สำหรับการแจกเงินดิจิทัลไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเท่าไหร่สำหรับโครงการนี้เพราะหากจะใช้บล็อกเชน หรือใช้โครงการบาทดิจิทัลของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้เริ่มมีการทดลองไปแล้วระยะหนึ่งก็สามารถทำได้ แต่การหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบเนื่องจากหากให้มีการใช้เงินในร้านค้าสะดวกซื้อขนาดใหญ่ หรือซื้อของจากโมเดิร์นเทรดก็จะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช้า เนื่องจากเมื่อผู้ซื้อซื้อสินค้าจากร้านค้ารายใหญ่พวกนี้จะมีอำนาจต่อรองสูง กว่าที่จะเอาเงินที่ได้ไปให้ซัพพายเออร์ก็จะใช้เวลาถึง 3-4 เดือน ต่างจากที่มีการซื้อกันในกลุ่มลูกค้ารายย่อยก็จะทำให้เงินหมุนเวียนได้รวดเร็วกว่า
นอกจากนั้นบางสินค้าก็ไม่ได้มีซัพพายเชนในประเทศไทย แต่เป็นแค่มาประกอบในเมืองไทยทำให้สินค้าบางชนิดไม่ได้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยเท่าที่ควร หากรัฐบาลสามารถกำหนดเงื่อนไขลงไปถึงสินค้าที่มีซัพพายเชนในไทยยาวๆก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และการลงทุนเพิ่มขึ้น”
นายมนตรี กล่าวต่อว่าแนวทางของการแจกเงินดิจิทัลที่จะเกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุดก็คือการกำหนดเงื่อนไขว่าผู้ที่รับเงินดิจิทัลจากโครงการนี้ต้องเข้าโครงการฝึกอบรมเพิ่มทักษะ ปรับทักษะ (Upskills – Reskills) การทำงานให้สอดคล้องกับตลาดงานสมัยใหม่ที่ต้องการใช้ความรู้และทักษะใหม่ๆ เช่น ทักษะดิจิทัล และทักษะเรื่องการใช้ข้อมูล หากรัฐบาลกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินให้ผู้รับเงินต้อง Upskills – Reskills ไปด้วยก็จะเป็นผลดีต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลที่ต้องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 และเพิ่มเงินเดือนให้กับแรงงานระดับปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนภายในปี 2570 ซึ่งค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น ต้องมาพร้อมกับความสามารถและทักษะของแรงงานที่เพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับอีกแนวทางที่สำคัญของการกำหนดเงื่อนไขในการใช้เงินดิจิทัลที่รัฐบาลควรกำหนดคือ ควรทำให้การใช้จ่ายเงินนั้นทยอยลงสู่ระบบเศรษฐกิจ คือให้เกิดการใช้ที่ต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไปและเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร เช่น สมมุติว่ากำหนดให้การจ่ายใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทเป็นระยะๆ เช่น ไตรมาสละ 3,000 บาท 2 ไตรมาส และไตรมาสสุดท้ายให้ใช้ 4,000 บาท ก็จะทำให้เงินจำนวนนี้หมุนเวียนใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจได้นานทั้งปี
โดยเงินจำนวนนี้แม้จะเป็นอีกกระเป๋าของรัฐที่ให้ประชาชนใช้จ่ายแต่เป็นเงินกู้ที่กู้มาทำโครงการที่คาดหวังให้เศรษฐกิจโต ดังนั้นความเสี่ยงก็คือหากโครงการออกไปแล้วเศรษฐกิจไม่โต หรือเศรษฐกิจคึกคักแค่สั้นๆ ก็จะทำให้จีดีพีโตได้น้อย และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะเพิ่มสูงขึ้นซึ่งก็เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไปเมื่อหนี้สาธารณะสูงขึ้น
“การแจกเงินดิจิทัลจะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจนั้นตนไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะพายุหมุนอาจจะเป็นไต้ฝุ่นที่พัดให้บ้านเรือนพังได้ ถ้าหากทำให้เป็นพายุดีเปรสชั่นอาจจะดีกว่าเพราะฝนจะตกแบบเรื่อยๆค่อยๆสม่ำเสมอ เหมือนเงินที่จะลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปก็จะทำให้เกิดผลดีกับระบบเศรษฐกิจ แล้วหากสามารถทำให้เกิดการหมุนเวียนในระดับฐานรากของปิรามิดของสังคมก็จะทำให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น” นายมนตรี กล่าว