‘วิกรม’ ชี้แจกเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

‘วิกรม’ ชี้แจกเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

"ในตอนนี้รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจเพราะประเทศจะเดินหน้าได้ก็ต้องแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนกินอิ่มนอนหลับ"

ประธานกรรมการบริหาร บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน วิกรม กรมดิษฐ์ ระบุ การแจกเงินให้กับประชาชนเป็นการช่วยระยะสั้น เพื่อให้ประชาชนมีเงิน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าเม็ดเงินตรงนี้เอาไปให้คนจนจริง ๆ และเมื่อพวกเขาเอาใช้จ่าย เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนจนในระยะสั้น และกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะไม่ยาว 

ปัญหาคือเงินตรงนี้ถ้าเอาไปแจกแล้ว รัฐบาลจะมีภาระ ประเทศจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะเป็นเงินส่วนรวม แน่นอนว่า ถ้าเรามีเงินเยอะ มีความสามารถในการหาเงินมาและคืนเงินได้ในอนาคต และนำมาช่วยประชาชนกลุ่มคนจนที่มีปัญหามาตั้งแต่สมัยโควิด ตนก็คืดว่าเป็นประโยชน์ เพราะเงินตรงนี้จะเข้าไปกระตุ้นในภาคการผลิต

ส่วนนโยบายลดราคาพลังงาน รัฐบาลต้องไปดูประเทศเพื่อนบ้านข้าง ๆ เรา ว่ารายได้ต่อหัวของประชากรในระดับเดียวกัน หรือจีดีพีต่อหัว ต้นทุนของค่าครองชีพมันน่าจะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ แล้วค่อยไปดูราคาพลังงานว่าควรอยู่ที่เท่าไหร่ วันนี้ถ้าจะประกาศลดอะไรที่มันเป็นของส่วนรวม มันต้องมีที่มา มีเหตุผล ที่จะต้องไม่กระทบต่อเรื่องการลงทุนด้วย เราอย่าไปเอาใจประชากรอย่างเดียว เราต้องดูตัวแม่ในการผลิตด้วย เพราะประเทศจะต้องเดินไปด้วย โรงงาน แหล่งการผลิต ถ้ามีต้นทุนที่สูงก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจะทำอะไรก็แล้วแต่ไม่ใช่คุยกับแค่ไม่กี่คน จะต้องมีการศึกษา ทำการบ้าน อย่างเช่น ประเทศเวียดนาม ทำไม 5 ปีที่ผ่านมา เม็ดเงินในการลงทุนของเขามากกว่าถึง 2-3 เท่า ก็เพราะค่าไฟฟ้า ค่าน้ำในเวียดนามมีราคาถูก ต้องดูปัญหาตรงนี้ด้วย ไม่ใช่นั้นประเทศไทยก็จะขาดความสามารถในการลงทุน เพราะประเทศต่าง ๆ เช่น จีน สิงค์โปร์ เวียดนาม ล้วนแต่มีเม็ดเงินจากนักลงทุนทั้งสิ้น 

ส่วนนโยบายขึ้นค่าแรงเป็นสิ่งที่จำเป็น จะไปบอกว่าเราต้องรักษาค่าแรงให้ถูกแบบนี้ ตนมองว่าไม่ยุติธรรม เราคิดแค่ว่า ถ้าวันนี้เราเป็นผู้ใช้แรงงาน เราอยู่ไหวหรือไม่ ในสถานการณ์เงินเฟ้อ ต้นทุนค่าครองชีพสูง การขึ้นค่าแรงต้องไม่ใช่เอาระบบประชานิยมมาขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดเช่น จาก 200 บาทเป็น 300 บาท ภายในเวลาเท่านี้ ตนว่าแบบนี้ไม่ใช่การบริหารเศรษฐกิจที่เหมาะสม การจะขึ้นค่าแรงควรจะ ขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ขึ้นอย่างมีเหตุผลเช่น เงินเฟ้อเท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ค่าพลังงานเท่าไหร่ แต่ละปีมันเพิ่มเท่าไหร่ เมื่อเราเห็นตัวเลขตรงนี้แล้ว ก็มาดูว่าเราจะปรับจากตัวเลขนี้มากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งต้องทำทุกปี เพราะต้นทุนมีการขยับขึ้น

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน เปิดเผยความเห็นต่อนโยบายของรัฐบาลใหม่ว่า ในตอนนี้รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจเพราะประเทศจะเดินหน้าได้ก็ต้องแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนกินอิ่มนอนหลับ สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่จะแจกเงินนั้นมองว่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และเกิดผลในทันทีทั้งด้านการบริโภคและกระตุ้นการผลิต

อย่างไรก็ตามต้องพิจารณว่างบประมาณกว่า 5 แสนล้านที่จะนำมาใช้นั้นเป็นการเพิ่มภาระในอนาคตหรือไม่ และรัฐบาลมีความสามารถในบริหารเงินคืนกลับมาอย่างไร

ส่วนการลดราคาพลังงาน ค่าน้ำมันและไฟฟ้า อยากให้รัฐบาลศึกษาให้ดี โดยการเปรียบเทียบสัดส่วนภาระค่าครองชีพกับรายได้ต่อหัวประชากรของประเทศเพื่อนบ้าน ให้ของไทยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้ส่งกระทบต่อภาคการลงทุนซึ่งจะเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

ส่วนการขึ้นค่าแรงนั้นสนับสนุนให้จำเป็นจะต้องพิจารณาปรับขึ้นทุกปีตามสถานการณ์ต้นทุนค่าครองชีพ ดอกเบี้ย และเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจะต้องไม่เป็นการขึ้นค่าแรงแบบกระชากขึ้นเป็นเท่าตัวในระยะเวลาสั้นๆ แต่ให้เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ไม่อย่างนั้นก็จะกระทบต่อผู้ประกอบการที่มีความเปราะบาง ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่การเลิกจ้างงาน

ทั้งนี้ เชื่อมั่นและให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่มีผลงานด้านเศรษฐกิจมาก่อนในการบริหารบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จึงมองว่าตอนนี้ต้องให้โอกาสรัฐบาลใหม่ได้แสดงฝีมือใน 1 ปีแรก หลังจากนั้นค่อยตัดสินและติชมอย่างเต็มที่