แบ่งจ่ายเงินเดือน ขรก.ไม่ส่งผลบวกศก.‘TDRI’ มองลูกหนี้นอกระบบได้ประโยชน์
นักเศรษฐศาสตร์TDRI ชี้จ่ายเงินเดือน ขรก.2 รอบไม่ช่วยเศรษฐกิจมาก แต่ช่วยคนเป็นหนี้นอกระบบ ที่ต้องจ่ายรายวัน รายสัปดาห์ แนะรัฐบาลมุ่งแก้ไขหนี้มากกว่า หาทางบริหารสภาพคล่อง ชี้แก้หนี้ต้องเฉพาะกลุ่มไม่หว่านแห
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง มีแนวคิดในเรื่องการปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินเดือนข้าราชการจากเดือนละครั้งเป็นเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อต้องการเพิ่มสภาพคล่องให้กับข้าราชการได้มีเงินใช้จ่ายระหว่างเดือน โดยได้เป็นข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาเพิ่มเติมโดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2567 ก่อนที่จะมีการออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเรื่องนี้เป็นทางเลือกให้ข้าราชการเลือกได้ว่าจะรับเงินเดือนครั้งเดียวหรือ 2 ครั้งใน 1 เดือน
“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจหากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินเดือนเป็น 2 ครั้งใน 1 เดือน
นายนณริฏ พิศลยบุต นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าแม้จะแบ่งการจ่ายเงินเดือนเป็น 2 รอบ แต่ในข้อเท็จจริง เงินรวม 2 งวดมันเท่าเดิม คือ แค่เอาเงินเดือนมาแบ่งจ่ายในราย 2 สัปดาห์จึงไม่มีผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการจ่ายหนี้
แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคือเป็นเรื่องของ “จังหวะ”ทำ หรือ “timing” ที่ข้าราชการจะได้รับเงินเร็วขึ้น 15 วันเงินที่ได้เร็วขึ้นจะเกิดประโยชน์ ถ้าข้าราชการมีหนี้ที่ต้องจ่ายในรอบที่เร็วกว่า 1 เดือน เช่น จ่ายทุกวัน ทุกสัปดาห์หรือทุก 2 สัปดาห์ แต่หนี้พวกนี้อาจจะเป็นหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงก็จะเกิดประโยชน์เพราะหนี้พวกนี้มักจะคิดดอกเบี้ยรายวัน
“ผมคิดว่าถ้าจะได้ประโยชน์ ก็จะเป็นกลุ่มที่เป็นหนี้นอกระบบครับ ก็คือ กู้หนี้ในระบบจนเต็มแล้วก็ไปกู้นอกระบบ ทีนี้หนี้นอกระบบมันคิดดอกแพง และคิดดอกรายวันหรือรายสัปดาห์ การมีเงินก่อนก็จะช่วยคนเหล่านี้ได้ แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีข้าราชการแบบนี้มากไหม
โดยปกติ การแก้หนี้นอกระบบ ควรจะแก้เฉพาะกลุ่มที่มีปัญหา ไม่ใช่หว่านแหแก้ระบบแล้วไปกระทบกับทุกคน”
ส่วนข้อเสียคือข้าราชการต้องปรับพฤติกรรมการวางแผนใช้เงินจาก 1 เดือนเป็น 15 วัน ซึ่งอาจจะมีความไม่คุ้นชิน และมีความเสี่ยง เช่น เงินที่ได้ในรอบ 15 วันแรกอาจจะต้องทนเก็บเอาไว้รอจ่ายหนี้ที่งวดเงินอาจจะต้องจ่ายในรอบ 1 เดือน ซึ่งระหว่างนั้น ถ้ามีสิ่งล่อใจให้จ่ายเงินก่อน พอถึงเวลาปลายเดือนก็จะไม่มีเงินจ่ายหนี้ได้ เป็นต้น
เมื่อถามว่าหากมีการเพิ่มการจ่ายเงินเป็น 2 รอบทำให้การหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้นหรือไม่ นายนณริฏกล่าวว่าในส่วนของการหมุนของเงิน ส่วนตัวมองว่าไม่ได้เร็วขึ้นนะครับ เพราะว่าเงินที่ได้ต่อเดือนก็คงเดิม
“เงินที่ได้มันจะเกลี่ยมากขึ้น คือ เดิมได้เงินเดือนก็จะใช้จ่ายมากต้นเดือน ปลายเดือนกินมาม่า เงินก็จะกระจายมากขึ้นตลอดเดือน แต่หากไม่ได้แก้ปัญหาหนี้สินของข้าราชการซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตออยู่ดี”
นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอยังกล่าวต่อด้วยว่าในส่วนของการแก้ปัญหาหนี้สิน มีข้อเสนอแนะ 3 เรื่องสำคัญคือ
1. การแก้หนี้ มีเครื่องมืออื่นๆ ที่ดีกว่าครับ เช่น การกำหนดการหักเงินเดือนที่เหมาะสม (เงินที่หักใช้หนี้ก่อนจ่ายเป็นเงินเดือน) เงินขั้นต่ำที่กฎหมายรองรับก่อนหักเอาไปใช้หนี้ที่ถูกฟ้อง
2. การแก้หนี้ ไม่ควรหว่านแห แต่เลือกเป็นกลุ่มๆ แยกประเภท ขนาดของหนี้ และสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละราย
และ 3.ให้ความรู้กับข้าราชการก่อนที่จะก่อหนี้ จัดทำบทเรียนประสบการณ์ของคนที่ติดภาระหนี้ ให้ความรู้ในเรื่องของขนาดของหนี้ที่ไม่ควรเกินต่อรายได้ และความรู้เรื่องประเภทของหนี้ (หนี้เพื่อการบริโภค หนี้เพื่อการลงทุน) เป็นต้น