จับตา รัฐบาล“เศรษฐา ” เร่งเปิดเจรจาเอฟทีเอ เปิดประตูตลาดการค้าไทยเพิ่ม

จับตา รัฐบาล“เศรษฐา ” เร่งเปิดเจรจาเอฟทีเอ เปิดประตูตลาดการค้าไทยเพิ่ม

กางนโยบายรัฐบาล สร้างรายได้ประเทศ เร่งการเจรจาเอฟทีเอ เดินสายพบปะผู้นำ เพิ่มโอกาสทางการค้าไทย ด้านส.ส.ก้าวไกล –สรท. หนุนสุดตัว หวังได้ขยายตลาดใหม่ ดันตัวเลขส่งออกไทยเพิ่ม

นโยบายรัฐบาล"เศรษฐา " ที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11-12 ก.ย.66  มีเรื่องของแนวทางการสร้างรายได้  โดยหนึ่งในนโยบายนี้รัฐบาลจะใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้าให้สินค้าและบริการของประเทศไทย อาทิ กลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา อเมริกาใต้ รวมถึงการให้ความสำคัญกับตลาดเดิมที่รวมถึงประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง โดยการออกไปพบผู้นำประเทศต่าง ๆเพื่อชักชวนให้มาค้าขายสินค้าและบริการของกันและกัน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าและบริการที่คิดและผลิตจากฝีมือของคนไทยมากขึ้น  เร่งการเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) 

แนวทางนี้เป็นแนวทางหารายได้เข้าประเทศ โดยพุ่งเป้าไปในเรื่องของการเจรจากรอบความตกลงการค้าระหว่างประเทศหรือเอฟทีเอ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล  เพราะเครื่องจักรสำคัญของประเทศไทยคือ”การส่งออก”ส่ออาการร่อแร่มาตั้งแต่ปลายปี 2565 จนปัจจุบันเป็นเวลา 10 เดือนที่การส่งออกของไทยติดลบ ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทยไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีน โดยเฉพาะจีนที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 และตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย มีสัดส่วนประมาณ 12 % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย 

การทำกรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ หรือเอฟทีเอ ถือเป็น”เครื่องมือ”สำคัญ ในการสร้างแต้มต่อทางการค้าของไทย  เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งคือ เวียดนาม ไทยมีเอฟทีเอน้อยกว่า   ซึ่ง “สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล”ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล อภิปรายในวันที่แถลงนโยบายรัฐบาล ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโตต่ำต่อเนื่องเฉลี่ย  0.9-1 % ของจีดีพี ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเร่งเจรจาเอฟทีเอ ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาการเจรจาเอฟทีเอหยุดชะงัก การเดินหน้าทำเอฟทีเอจะเป็นเครื่องมือสร้างแต้มต่อ ดึงดูดการลงทุน 

จับตา รัฐบาล“เศรษฐา ” เร่งเปิดเจรจาเอฟทีเอ เปิดประตูตลาดการค้าไทยเพิ่ม

 “สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล”ยังนำสถิติตัวเลขการทำเอฟทีเอกับประเทศเพื่อนบ้านมา แสดงต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยระบุว่า      ไทยมีอฟทีเอน้อยกว่าประเทศอื่นทั้งจำนวนฉบับและประเทศที่คลอบคลุม  โดยไทยมีเอฟทีเอ 14 ฉบับ คลอบคลุม 18 ประเทศ น้อยกว่า ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิงคโปร์ มาเล เซีย อินโดนีเซีย  เวียดนาม โดยเฉพาะเวียดนามที่เป็นคู่แข่งการส่งออกสำคัญของไทย โดยเวียดนามที่เอฟทีเอ 15 ฉบับ คลอบคลุม 53 ประเทศ ชี้ให้เห็นว่า น้อยกว่าทั้งจำนวนและประเทศ ทำให้ไม่มีใครอยากมาค้าขายและลงทุน และยังสะท้อนถึงเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ หรือFDI  ที่ปัจจุบันเหลือเพียง  6 % เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้วอยู่ที่ 33 % นั่นหมายความว่าเสน่ห์ของไทยลดลงแล้ว นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเร่งเจรจาเอฟทีเอใหม่ และต้องใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอเดิมอย่างเต็มที่ 

นอกจากนี้ยังแนะนำรัฐบาลว่าการทำเอฟทีเอไม่ใช่แค่จำนวนฉบับที่เพิ่มแต่ต้องวางยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และตัวชี้วัดโดยเฉพาะเอฟทีเอใหม่ที่จะเปิดเจรจาคลอบคลุมกี่ประเทศ การค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่เจรจามีมากน้อยแค่ไหน และเพิ่มการส่งออกไทยมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นรัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญ 

จับตา รัฐบาล“เศรษฐา ” เร่งเปิดเจรจาเอฟทีเอ เปิดประตูตลาดการค้าไทยเพิ่ม

 

สอดคล้องกับความเห็นของผู้ส่งออก “ ชัยชาญ เจริญสุข “ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลที่จะใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะการเร่งเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ เพื่อเปิดตลาดการค้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเป็นเอฟทีเอที่คั่งค้างหรือเอฟทีเอที่จะกำลังเจรจาเปิดใหม่ เพราะตลาดการค้าหลักของไทยไม่ว่าจะเป็นตลาดสหรัฐ ยุโรป เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลต่อการส่งออกของไทย ขณะที่การออกไปพบผู้นำประเทศต่าง ๆ เพื่อชักชวนให้มาค้าขายก็ถือว่ามีความสำคัญมากในยุคนี้ เพราะจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ความต่อเนื่องและความจริงใจรัฐบาลไทย นอกจากนี้ไทยจะต้องวางตัวเป็นกลาง  ต้องไม่อยู่ในคู่ขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเราต้องเน้นเรื่องการค้าเป็นหลัก  

สำหรับนโยบายการพบปะผู้นำประเทศต่างๆ นั้น "ภูมิธรรม เวชยชัย "รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเดินทางไปเมืองหนานหนิง ประเทศจีน ในะหว่างวันที่  16-18 ก.ย.นี้ เพื่อร่วมงานChina -Asean Expoครั้งที่ 20 ที่หนานหนิง ประเทศจีน และพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรีของจีน เพื่อสร้างความพันธ์ที่ดีระหว่างการและ จะหารือแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างสองฝ่าย ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรกที่รมว.พาณิชย์ พบปะผู้นำหลังเข้ารับตำแหน่ง

 

เอฟทีเอ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยท่ามกลางความท้าทายเศรษฐกิจโลก ผ่านการเปิดตลาด ลดเลิกอุปสรรคทางภาษีศุลกากร และที่มิใช่ภาษี ปรับปรุงกฎระเบียบที่จะอำนวยความสะดวกทางการค้า และยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล ตลอดจนเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างกัน นโยบายรัฐบาลที่จะเร่งเปิดเจรจาเอฟทีเอฟใหม่ย่อมเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการค้าไทยแต่ในทางกลับบ้านก็ต้องรอบคอบไม่ให้กระทบต่อคนไทย ภาคการเกษตร ผู้ประกอบการ ขณะที่การพบปะผู้นำประเทศต่างๆก็ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน นอกจากเป็นการทำความรู้จักในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่การกระทรวงพาณิชย์แล้ว ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในด้านการค้าและการลงทุนและเพื่อเป็นแรงเสริมการค้าระหว่างประเทศ