‘ทางสายกลาง’ ของรัฐบาล ในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการ ‘แจกเงินดิจิทัล’
การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเติมเงินให้ประชาชนใน “กระเป๋าเงินดิจิทัล” หรือ “Digital Wallet”ถูกบรรจุไว้ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของ “รัฐบาลเศรษฐา1”
“เศรษฐา ทวีสิน” บอกว่านโยบายนี้จะเป็นตัวกระตุกกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ สร้างการบริโภค เป็นพายุหมุนในระบบเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจในปี 2567 ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี
เมื่อนโยบายนี้ถูกบรรจุไว้ในการแถลงนโยบายของรัฐบาล เราเห็นความเคลื่อนไหวในการเดินหน้าของนโยบายนี้ทันที แม้ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกอย่างเป็นทางการของรัฐบาลเศรษฐาเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมาจะยังไม่มีการบรรจุวาระเรื่องนี้ในการประชุม ครม. แต่ก็มีการมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ดูแลเรื่องนี้โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการ และไทม์ไลน์ของการขับเคลื่อนโครงการให้ทันตามที่นายกฯกำหนดว่าให้เริ่มได้ภายในเดือน ก.พ.ปี 2567
นอกจากการเตรียมการในเรื่องของ “คน” และ “ระบบ”ที่จะมารองการแจกเงินดิจิทัลแล้วในเรื่องของการเตรียมพร้อมของ “แหล่งเงิน” งบประมาณที่จะมารองรับที่นายกฯบอกเรื่องนี้จะชัดเจนใน 1 เดือน มีการเริ่มขยับในส่วนต่างๆที่สำคัญเพื่อเพิ่ม “พื้นที่ทางการคลัง” ของงบประมาณรายจ่ายปี 2567 โดย ครม.เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมาได้มีการทบทวนกรอบนโยบายการคลังระยะปานกลาง 2567 – 2571 โดยมีประเด็นสำคัญคือการปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณในปี 2567 เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท
จากการขาดดุลงบประมาณที่ทำไว้ในรัฐบาลก่อนอยู่ที่ 5.93 แสนล้านบาทมาอยู่ที่ 6.93 แสนล้านบาท โดยการขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็นการ “รองรับนโยบายใหม่ของรัฐบาล”ซึ่งก็คงไม่พ้นในเรื่องนโยบายแจกเงินดิจิทัลที่จะต้องใช้วงเงินถึง 5.6 แสนล้านบาทมาดำเนินโครงการ
การดำเนินการในลักษณะแบบนี้ก็เท่ากับเป็นการกู้เงินของรัฐบาล แต่เป็นการกู้เมื่อท้ายปีงบประมาณที่จะต้องมีการกู้ขาดดุลมาปิดหีบงบประมาณนั่นเอง
แม้ว่าโครงการนี้จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามการประเมินของคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่า จีดีพีในปี 2567 จะขยายตัวได้ 0.8 – 1% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินจำนวนนี้ ขณะที่รัฐบาลก็หวังให้การเติบโตจีดีพีมีอัพไซด์เพิ่มได้จากที่หน่วยงานเศรษฐกิจคาดการณ์ไว้ในสมมุติฐานการทำงบประมาณว่าในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะโตแค่2.7 - 3.7% เท่านั้น!
เมื่อรัฐบาลจะเดินหน้าแต่มีเสียงคัดค้านทางออกที่ดีคือการขับเคลื่อนนโยบายด้วย “การเดินทางสายกลาง”
นโยบายนี้มีทางสายกลางได้หลายแนวทาง เช่น วงเงินที่จะแจกอาจไม่ต้องมากขนาด 5.6 แสนล้านบาท แต่อาจจะลดขนาดการกระตุ้นเศรษฐกิจลงมาเหลือแค่ 2-3 แสนล้านบาท เก็บกระสุนเอาไว้ใช้เพิ่มเติมในช่วงเวลาอื่นๆหรือโครงกาารอื่นที่มีความจำเป็นในอนาคต
ทางสายกลางคือไม่ใช่มุ่งแค่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแต่ทำโครงการนี้ให้เป็นประโยชน์กับประเทศระยะยาว เช่น พ่วงเงื่อนไขเช่น การฝึกอาชีพ เพิ่มทักษะแรงงาน รับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และรับกับนโยบายเพิ่มค่าแรงของรัฐบาลด้วย
"ทางสายกลาง” แบบวิถีพุทธเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ต้องสร้างความสมดุล รู้จักความพอดี ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
แม้แต่การจะกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่ควรใช้เงินมากเกินไป จนสร้างภาระทางการคลังในระยะยาว