‘คมนาคม’ ชี้โจทย์ใหญ่เร่งกระตุ้นท่องเที่ยว หนุนใช้เทคโนโลยีลดต้นทุน
“คมนาคม” ชี้โจทย์ใหญ่รัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ชูภาคท่องเที่ยวเป็น Quick Win เร่งดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับมาไทยแตะ 42 ล้านคน หนุนใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงภาคขนส่งช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในงานสัมมนา Thailand Challenge: ความท้าทายประเทศไทย จัดโดย ฐานเศรษฐกิจในหัวข้อ “Thailand Challenge: โอกาสประเทศไทยบนความท้าทายโลก” เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2566 ว่า เราเสียเวลาไป 4 เดือนก่อนที่จะเริ่มนับหนึ่ง ในช่วงที่ไทยมีรัฐบาลรักษาการซึ่งไม่สามารถขับเคลื่อนการใช้จ่ายได้ วันนี้โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยคือ ความท้าทายด้านเศรษฐกิจ จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวได้ 3.9 - 4.3% ในวันนี้ต้องบอกว่าน่าจะเหลือเพียง 3% ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ เม็ดเงินในระบบที่หายไปในภาวะที่เศรษฐกิจหดตัวลง โดยสาเหตุหลักมาจากภาคการส่งออกที่หดตัว รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนโควิด-19
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกก่อนก็คือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และคืนทุนไว กำไรมาก เพราะประเทศไทยเองมีจุดแข็งในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ และที่ตั้งที่เหมาะสม ซึ่งเอื้อสำหรับการท่องเที่ยว ทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางลำดับต้นๆ ของโลก
โดยรัฐบาลได้ออกนโยบายที่หลากหลายเพื่อขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาใกล้เคียงกับปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยกว่า 42 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้ต่อเนื่องไปยังภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง โดยกระทรวงคมนาคม ก็ถือเป็นหนึ่งในกลไกที่จะเข้ามาช่วยผลักดันการเดินทางของสินค้า และผู้คนให้ปลอดภัย และตรงเวลา
อย่างไรก็ตาม ปัญหา และอุปสรรคที่เป็นความท้าทายหลักของภาคคมนาคมไทยคือ ในเรื่องของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะรถไฟไทยที่ยังมีภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมียอดขาดทุนสะสมกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจมาจากเรื่องนโยบายทางการเมืองที่มีความคิดเห็นต่างในการบริหารงบประมาณ จึงทำให้ไทยเสียโอกาส อย่างกรณีส่งออกสินค้าทางรางไปจีน วันนี้เรายังต้องเสียเปล่าในการบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่เวียงจันทน์ นายกฯ จึงสั่งการให้มีการสร้างฮับบรรทุกสินค้าขึ้นที่ขอนแก่นเพื่อให้สะดวกในการเชื่อมโยงการขนส่งไปจีน
นอกจากนี้ ภาครัฐก็ต้องเร่งให้เกิดการเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับภาคการขนส่ง ทั้งแท็กซี่ และวินมอเตอร์ไซค์ที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถแข่งขันกับแอปพลิเคชันได้ รวมทั้งลดช่องว่างในการเข้าถึงโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด