อ่านใจ ‘อีลอน มัสก์’ ทำไม ‘เทสลา’ ไม่ตั้งโรงงานผลิต ‘EV’ ในไทย
อ่านใจ อีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลา ทำไมยังไม่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย "KKP" ยก 3 เหตุผลอธิบายเหตุใช้กำลังการผลิตจากโรงงานในจีน ใช้ประโยชน์จากภาษีนำรถเข้ามาขายในไทย ราคารถทำตลาดในไทยไม่ง่าย และสหรัฐฯมีมาตรการดึงการผลิตกลับประเทศ
key points
- ประเทศไทยมีการส่งเสริมการใช้รถ EV โดยมีมาตรการสนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ซื้อรถ และการสนับสนุนมาตรการภาษีให้กับบริษัทที่เข้ามาลงทุน
- มีค่ายรถยนต์หลายรายที่ประกาศการลงทุนในไทย แต่รัฐบาลมีนโยบายในการเชิญชวนนักลงทุนต่อเนื่อง โดยหนึ่งในเป้าหมายคือการดึง "เทสลา" บริษัท EV ชั้นนำอย่างสหรัฐฯให้เข้ามาลงทุนในไทย
- นายกรัฐมนตรีได้มีการหารือกับอีลอน มัสก์ CEO เทสลา โดยพร้อมออกมาตรการสนับสนุนหากเทสลาเข้ามาลงทุนในไทย
- KKP Reserch ได้เคยออกบทวิเคราะห์ชี้ 3 ประเด็นหลักที่เป็นเหตุผลทำให้เทสลาไม่เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิต EV ในไทย
ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมีทั้งมาตรการสนับสนุนทางการเงิน และมาตรการทางภาษี รวมทั้งมีการดึงดูดการลงทุนรถ EV จากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนที่ผ่านมามีหลายค่ายรถยนต์โดยเฉพาะจากประเทศจีน และยุโรปที่เริ่มประกาศการลงทุนในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามมีคำถามเสมอว่ากรณีของ “Tesla” (เทสลา) บริษัทชั้นนำผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ของสหรัฐฯ จะมีการลงทุนตั้งโรงงานการผลิตในไทยหรือไม่ หลังจากที่ได้มีการเข้ามาทำการตลาดในไทยอย่างจริงจังมากขึ้น
โดยเมื่อปีก่อน บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทอีก 250 ล้านบาท จากเดิม 3 ล้านบาท เป็น 253 ล้านบาท เพื่อประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้งและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน ในหมวดธุรกิจการขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะรถตู้ และรถขนาดเล็กที่คล้ายกัน
ทั้งนี้ในการเดินทางไปประชุม UNGAครั้งที่ 78 ที่นครนิวยอร์ก ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าจะมีโอกาสหารือกับนายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอของเทสลาผ่านการประชุมระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์
โดยนายกรัฐมนตรีบอกกับสื่อมวลชนว่าขณะนี้เทสลามีแผนที่จะขยายการลงทุนในเอเชียโดยพิจารณาพื้นที่การลงทุนในอินเดีย อินโดนิเซีย และมาเลเซีย คำถามคือว่าทำไมประเทศไทยยังไม่อยู่ในตัวเลือกจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และทีมประเทศไทยที่จะไปชักชวนให้เทสลาเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
นายกฯพูดคุยอีลอน มัสก์ พร้อมอำนวยความสะดวกลงทุน
ทั้งนี้ในการพูดคุยกันเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมาระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับนายอีลอน มัสก์ นั้นนายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมการดำเนินธุรกิจของอีลอน มัสก์ ทั้งในการดำเนินงานผ่าน Tesla, SpaceX และ Starlink โดยถือเป็นความก้าวหน้าที่ต้องการทำเพื่อมนุษยชาติ และเพื่อโลกที่สะอาดสู่อนาคตที่ดีขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะเกิดเป็นความสำเร็จทั้งต่อความร่วมมือด้านยานยนต์ EV และเพิ่มความร่วมมือด้าน Space Exploration ซึ่งมีมูลค่าทางตลาดสูง อีกทั้งเชื่อว่าการพบกันครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ไม่ใช่เพียงต่อประเทศไทย แต่จะเป็นประโยชน์กับโลกด้วย โดยรัฐบาลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมให้การดูแล สนับสนุนตามกรอบกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน.
ขณะที่ทางเทสลากล่าวชื่นชมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของไทย ซึ่งเหมาะสมกับการลงทุนของเทสลาในอนาคต
อย่างไรก็ตามแม้รัฐบาลจะพยายามเชิญชวนให้เทสลาเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยแต่ก็มีเหตุผลสนับสนุนที่ทำให้อีลอน มัสก์ และผู้บริหารของเทสลาจะยังไม่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถ EV ในไทยอย่างน้อย 3 ข้อด้วยกัน ซึ่งในรายงานบทวิเคราะห์ของบริษัทเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ได้ระบุไว้ในบทวิเคราะห์ เรื่อง “เมื่อเทสลา บุกตลาด อะไรคือหลักไมล์ต่อไปของยานยนต์ไทย” ซึ่งเผยแพร่ในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ระบุว่า
“ทำไม Tesla ยังไม่มาตั้งโรงงานผลิต EV ในไทย ?”
เทสลาเลือกการนำเข้ารถยนต์จากจีนแทนการมาตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากข้อตกลงการค้าเสรี ถึงแม้ไทยจะมีมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่มีเงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องผลิตชดเชยการนำเข้าภายในปี 2567 เท่ากับจำนวนที่นำเข้าในปี 2565 – 2566 ซึ่งเทสลาไม่ได้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวและไม่ได้ส่วนลดทางภาษีพร้อมกับเงินอุดหนุนเหมือนค่ายรถจีน และยังไม่มีแผนสำหรับการตั้งฐานผลิตที่ไทยแม้ว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทยจะเติบโตได้ดีในช่วงทีผ่านมาก็ตาม
โดยKKP Research ประเมินว่าเหตุผลสำคัญ 3 ข้อดังนี้
1.ตลาดรถยนต์ไทยมีขนาดเล็กและกำลังซื้อน้อยกว่าจีนและสหรัฐฯ ยอดขายรถยนต์นั่งฯ ในไทยมีเพียง 3-4 แสนคันต่อปี ในขณะที่จีนขายได้ 20 ล้านคันต่อปี ทำให้เทสลามียอดขายในจีนอยู่ประมาณ 4 แสนคันต่อปี ในด้านกำลังซื้อของคนไทยหากเทสลาเข้ามาผลิตใน
ประเทศและได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอีก 150,000 บาท ราคาเทสลาก็ยังสูงกว่าระดับราคารถที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้ซึ่งอยู่ที่
ประมาณคันละ 5-6 แสนบาท ต่ำกว่าราคารถเฉลี่ยของคนจีนถึง 3 เท่า (คนจีนเกือบครึ่งใช้รถยนต์ราคา 1-1.5 ล้านบาท)
จากข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างระดับรายได้ต่อหัวของคนในประเทศกับยอดขาย EV พบว่าประเทศรายได้สูงมีแนวโน้มเปลี่ยนมาใช้ EV ได้เร็วกว่า โอกาสทางธุรกิจของ Tesla จึงอยู่ที่ประเทศรายได้สูง ขณะที่อาจจะยังขยายตลาดได้ยากในตลาดกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางรวมทั้งไทย หากยังไม่สามารถลดราคาลงมาให้เหมาะสมกับกำลังซื้อได้ หรือปรับกลยุทธ์มาจับกลุ่มผู้ใช้รถระดับราคาต่ำล้าน
2.การนำเข้ามีแนวโน้มถูกกว่าผลิตในไทยเทสลาไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า อยู่แล้วเนื่องจากนำเข้าจากประเทศจีน และค่าขนส่งจากจีนไม่แพง สะท้อนจากราคาขายที่ไทยใกล้เคียงกับราคาขายที่จีน โดยมีส่วนต่างราคาอยู่ที่ 3-4 แสนบาท และด้วยขนาดตลาดและซัพพายเชนของ EV กระจุกอยู่ที่จีนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทำให้ Gigafactory Shanghai ได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (economies of scale) และเป็นโรงงานที่สามารถผลิตรถเทสลาต่อหน่วยได้ถูกที่สุด
และ 3.นโยบายอุตสาหกรรมประเทศอื่นดึงดูดการลงทุนมากกว่า ทิศทางการลงทุนของตลาดโลกเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง ทั้งจากเทรนด์การดึงการลงทุนสร้างฐานการผลิตกลับไปยังประเทศต้นทางมากขึ้น (Resh oring) และพึ่งพาตลาดเกิดใหม่น้อยลง ส่งผลให้มาตรการภาครัฐของไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศต้องแข่งขันกับทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะกับประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยกันเท่านั้น
อีกทั้งในกรณีของเทสลารัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกกฎหมาย IRA (Inilation Reduction Act) ช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา โดยให้เงินอุดหนุนต่อคันมากถึง 7,500 ดอลลาร์ (245,000 บาท) ซึ่งมากพอที่จะเร่งให้ตลาดรถอเมริกาเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างก้าวกระโดดได้ ทำให้สหรัฐอเมริกายังคงมีความน่าดึงดูดในฐานะตลาดหลักที่เทสลาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ
...ต้องจับตาดูว่าหลังจากที่นายกรัฐมนตรี และตัวแทนจากประเทศไทยได้มีโอกาสในการพูดคุยกับซีอีโอของเทสลาแล้วจะทำให้โอกาสที่เทสลาจะเปลี่ยนใจมาปักหมุดลงทุนในไทยบ้างจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะหากเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม และตบลาดรถ EV ในประเทศไทย และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย