ส.อ.ท.หวั่นกระชากขึ้นค่าแรง 400 บาท แนะรัฐบาลเลิกแทรกแซงไตรภาคี
ส.อ.ท.ค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ย้ำต้องเป็นไปตามกลไกไตรภาคีแต่ละจังหวัด แนะรัฐบาลเลิกแทรกแซง ชี้ผลิตภาพแรงงานไทยยังสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ ทั้งจะกลายเป็นตัวเร่งอัตราการว่างงาน ลงทุนย้ายหนี
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดเป็นประเด็นที่ภาคเอกชนคัดค้านมาตลอด นับตั้งแต่พรรครัฐบาลเพื่อไทย ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เมื่อปี 2555-2556 ปรับขึ้นทันที 79-141 บาท และล่าสุดรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีนโยบายค่าแรง 600 บาท และจะนำร่อง 400 ในวันที่ 1 ม.ค.2567 ทำให้ต้องปรับขึ้น 46-72 บาท
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน โดยที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2566 เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้เสนอกับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานแล้ว โดยยืนยันว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรต้องเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) ที่ประกอบด้วยระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ โดยยึดตามอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ รวมทั้งความต้องการแรงงานในแต่ละจังหวัดเป็นหลัก เนื่องจากค่าแรงถือเป็นต้นทุนสำคัญที่จะส่งผลต่อภาคการผลิตและบริการที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น
“หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ จะเป็นการขึ้นแบบกระชากจากฐานค่าแรงเดิมในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 328-354 บาท โดยกลุ่มที่ค่าแรงต่ำสุดจะมีต้นทุนจะสูงขึ้น 20% และมากที่สุดก็ต้นทุนสูงขึ้น 13% ซึ่งถือว่าได้รับผลกระทบสูง ดังนั้น ส.อ.ท.จึงเน้นย้ำว่าการขึ้นค่าแรงจะต้องเป็นไปตามกลไกไตรภาคีจึงจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้”
ทั้งนี้ จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ครึ่งหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จึงเป็นการจ้างแรงงานทักษะสูง ซึ่งมีการจ่ายค่าแรงตามทักษะของแรงงาน (Pay by Skills) อยู่แล้วที่ 600-900 บาทต่อวัน
ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น เกษตรอุตสาหกรรม ประมง อาหารทะเล และแปรรูปอาหาร ภาครัฐจำเป็นต้องให้เวลากลุ่มเหล่านี้ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบออโตเมชั่นและการใช้หุ่นยนต์ราว 3-5 ปี โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเอสเอ็มอีที่ต้องการมาตรการช่วยเหลือ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้อุตสาหกรรมมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้
ส่วนอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่และมีการใช้แรงงานเข้มข้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ก็ให้เชิญชวนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำกว่า ซึ่งเป็นไปตามกลไกที่เกิดขึ้นทั่วโลก
แนะรัฐบาลเลิกแทรกแซงไตรภาคี
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบอย่างรอบคอบและไม่ควรเข้าไปแทรกแซงกลไกไตรภาคีของแต่ละภาคและจังหวัด ไม่อย่างนั้นจะเป็นเหมือนกับกรณีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งในอดีตเกิดการโยกย้ายแรงงานทำให้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลขาดแคลนแรงงาน
ทั้งยังจะส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนด้วย เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้นเป็น 400 บาท จะทำให้ไทยขึ้นเป็นประเทศที่มีค่าแรงสูงเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาค รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ขณะที่ผลิตภาพแรงงานไทยยังไม่มีการพัฒนามากนัก โดยการขึ้นค่าแรงจะเป็นตัวเร่งให้เกิดอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น จากที่อุตสาหกรรมเองกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์
เสนอวิธีทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ส.อ.ท. กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมองว่าเป็นจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ก็ควรเป็นการทยอยขึ้นแบบขั้นบันไดเพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะซัพพลายเชนการผลิตของกลุ่มอาหาร ซึ่งตั้งแต่ต้นน้ำที่เป็นการเกษตรและการทำฟาร์ม มีการใช้แรงงานที่เข้มข้น และไม่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นแบบกึ่งอัตโนมัติ (semi-autonomous)
ดังนั้นต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นก็จะทำให้ราคาวัตถุดิบเหล่านี้เพิ่มขึ้นตามจนถึงปลายน้ำ ทำให้ผู้บริโภคก็จะต้องรับส่วนเพิ่มตามไปด้วย ขณะที่สินค้าบางอย่างที่เป็นสินค้าควบคุม ผู้ผลิตขั้นปลายไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ก็กลายเป็นเจ็บหนัก
“ผู้ประกอบการที่สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบอัตโนมัติได้ก็กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน บางส่วนที่ทำได้ก็สามารถทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ต่างประเทศ อย่างไรก็ตามธุรกิจอาหารบางชนิดก็ยังมีการพึ่งพาแรงงานอยู่มาก เช่น การคัดสินค้าเกษตร ซึ่งถ้ามีการปรับค่าแรงขึ้นอย่างก้าวกระโดดผู้ประกอบการเหล่านี้ก็จะปรับตัวไม่ทัน และควรต้องมีมาตรการช่วยเหลือ”
ห่วงผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เทียร์ 3-4
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า เป็นกังวลสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีทั้งหมดที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เทียร์ 3 เทียร์ 4 และอู่ซ่อมรถ ที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น รวมถึงผู้ประกอบการในต่างจังหวัดและผู้ค้ารายย่อย
“ต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นนั้นน่ากังวลว่าจะทำให้เกิดการโยกย้ายการลงทุนไปหาแหล่งที่มีค่าแรงถูกกว่า เหมือนในอดีตที่มีการขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกลุ่มรับจ้างผลิต (OEM) ที่พึ่งพิงการส่งออกตัดสินใจย้ายฐานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้มีต้นทุนถูกลงและสามารถแข่งขันได้”
นอกจากนี้ สำหรับอัตราค่าแรงที่จ่ายสูงกว่าเพดานขั้นต่ำอยู่แล้วเองก็อาจต้องมีการขยับขึ้นไปด้วยเพื่อให้ช่องว่างระหว่างแรงงานทักษะต่ำ (unskilled) กับแรงงานทักษะสูง (high-skilled) กลับมาห่างกัน
“ตอนนี้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนกับผู้ประกอบการ โดยการลดราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้าและน้ำมัน แต่ก็เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น รัฐไม่สามารถแบกรับภาระการอุดหนุนได้นานเพราะไทยยังต้องนำเข้าพลังงาน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องเร่งผลักดันคือการดึงการลงทุนเข้ามาให้มาก จึงจะสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศและเกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน รวมทั้งต้องเร่งสร้างและพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคตที่จะขยับเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคNew S-Curve”