ความยั่งยืนการพัฒนา ‘ระบบรางไทย’ ต้องยืนได้บน ‘เทคโนโลยี’ ของเราเอง
สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ฉายภาพการทำงาน 2 ปี เตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวของการลงทุนระบบรางในไทยอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี และมาตรฐาน เผยหลายประเทศสนใจร่วมมือกับไทยพัฒนาระบบราง มั่นใจไทยพัฒนาอุตสาหกรรม-เทคโนโลยีรางในประเทศได้
“การขนส่งทางราง” ถือเป็นการขนส่งที่ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ และการขนส่งของประเทศได้มาก ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มียุทธศาสตร์พัฒนาระบบรางให้เป็นส่วนสำคัญในการการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นประเทศที่มีการคมนาคมโดดเด่นในภูมิภาค โดยมีแผนแม่บทระบบรางลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นวงเงินถึง 1.8 ล้านล้านบาทภายในปี 2572
เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบรางที่ครอบคลุมระบบขนส่งเมืองหลัก รถไฟทางคู่ทั่วประเทศ และรถไฟความเร็วสูง พร้อมสร้างกลไกสร้างธุรกิจใหม่และส่งเสริมการเติบโตของชุมชนตามเส้นทางราง ช่วยสนับสนุนการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน มีความปลอดภัยด้วยราคาเหมาะสม และยกระดับสิ่งแวดล้อมของประเทศให้ดียิ่งขึ้น
นายโชติชัย เจริญงาม ประธานสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ “สทร.” กล่าวว่า สทร.มุ่งดำเนินงานในสองด้านหลัก คือ การสร้างรากฐานเพื่อส่งเสริมความสามารถในการพึ่งตนเองด้านระบบราง และการเป็นศูนย์วิเคราะห์แนวการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจากการพัฒนาราง
“สทร. ทำงานโดยการสร้างระบบความร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศ สถาบันการศึกษาในประเทศ และเอกชนในประเทศ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพ”
ทั้งนี้จากนโยบายการพัฒนาระบบรางขนาดใหญ่ของประเทศในอนาคต ทำให้ สทร.ได้รับความสนใจจากภาคส่วนต่างๆเข้ามาร่วมงานเป็นอย่างดียิ่ง จนเห็นได้ว่าระบบรางจะเป็นตัวสร้างแรงเหวี่ยงให้เกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆอีกมากในอนาคต
“ในระยะเวลาสองปีที่ สทร.ทำงานมา เราได้รับความสนใจเข้ามาร่วมทั้งจากเยอรมัน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน เช่น กรณี Alstom ที่แสดงความสนใจด้านการร่วมพัฒนาชิ้นส่วน มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีรับเป็นแม่งานด้านการกำหนดมาตรฐาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะช่วยดูเรื่องผลกระทบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นแห่งแรกที่เริ่มทำการศึกษา “rail economy” สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”นาย โชติชัยกล่าว
นอกจากนี้การร่วมงานใกล้ชิดระหว่าง สทร. กับการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมราง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ฯ ทำให้เกิดการช่วยคิดเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆที่สามารถต่อยอดจากการลงทุนด้านรางอีกเป็นจำนวนมาก อย่างช่วงนี้ กสทช.กำลังดำเนินงานเรื่องคลื่นความถี่สำหรับระบบรางที่จะช่วยให้การบริการทั้งคมนาคมและสื่อสารมีมาตรฐานเทียบเท่ากับในยุโรป บริษัทเอกชนไทยเริ่มสนใจพัฒนาให้รถไฟเข้าสู่ระบบไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ ๆที่มีศักยภาพสูงของไทย ส่วน สกสว.ช่วยชักชวนผู้เชี่ยวชาญชาวไทยเข้ามาช่วยคิด
ช่วยทดสอบ ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราซื้อระบบจากยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและจีน ก่อนจะผลิตชิ้นส่วน หรืออะไหล่อะไรก็ตาม จะต้องมีมาตรฐานอ้างอิงขึ้นมาก่อน ซึ่งบริษัทต่างประเทศหลายแห่งก็ให้การสนับสนุน
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวบรรยายในการประชุมสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) ว่า
กระทรวงคมนาคมมีแนวทางแน่วแน่ที่จะใช้ระบบรางเป็นเครื่องมือในการร่วมพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สอดรับกับกระแสโลกที่แข่งขันกันพัฒนาระบบรางเพราะเมื่อเทียบกับการคมนาคมในแบบต่าง ๆแล้ว ระบบรางขนส่งผู้โดยสารได้มากกว่า ขนสินค้าได้มากกว่า ต้นทุนน้อยกว่าและผลิตคาร์บอนต่ำกว่า
จึงมีความตั้งใจให้โครงการต่างๆของกระทรวงสร้างผลตอบแทนให้ได้ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นการลงทุนที่มีมาตรฐานสูง จึงจัดตั้ง สทร.ขึ้นมาเพื่อเป็นมันสมองและกลไกสำคัญสำหรับการพัฒนาระบบราง
“โจทย์แรกสุดคือทำอย่างไรที่ไทยจะไม่ต้องเป็นผู้ซื้อตลอดเวลา เพราะระบบรางจะต้องมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนและอำตลอดเวลา เราน่าจะยืนบนขาตัวเองได้เท่าที่จะทำได้ แล้วต่อไปเราจะได้เห็นว่าระบบรางสร้างโอกาสใหม่ ๆให้ประเทศได้อย่างกว้างขวาง ส่วนการแก้ปัญหาในใจคนไทยในเรื่องคมนาคมคือ รถติด แพง อากาศเป็นพิษ ซึ่งเราเอามาตั้งเป็นโจทย์ให้ระบบรางมีราคาเป็นธรรม ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากเท่าที่จะเป็นไปได้”
โดยการพัฒนาระบบรางในอนาคต จะตอบความต้องการของประเทศและประชาชนได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ระบบรางในเมือง ซึ่งปัจจุบันให้บริการรวมระยะทาง 241 กิโลเมตร แต่เมื่อถึงปี 2572 จะมีการบริการ 554 กิโลเมตร เป็นรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินรวม 17 สาย ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้เป็นอย่างดี
ระบบรถไฟรางคู่ เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญเพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งทางรางไปทั่วประเทศ โดยในปัจจุบันดำเนินการอยู่รวมระยะทาง 993 กิโลเมตร แต่เมื่อถึงปี 2571 จะมีเพิ่มขึ้นอีก 1,483 กิโลเมตร
สำหรับรถไฟความเร็วสูงนั้น ปัจจุบันดำเนินการในระยะทาง 250 กิโลเมตร จากแผนพัฒนาเต็มที่มีระยะทางรวม 2,249 กิโลเมตร และยังมีรถไฟเชื่อมสามสนามบินอีก 220 กิโลเมตรที่จะค่อยๆเห็นผลเป็นรูปธรรมในอนาคต