‘กรณ์’ เตือนรัฐบาลประเมินความเสี่ยงขยาย ‘เพดานหนี้’ กู้แจก ‘เงินดิจิทัล’

‘กรณ์’ เตือนรัฐบาลประเมินความเสี่ยงขยาย ‘เพดานหนี้’ กู้แจก ‘เงินดิจิทัล’

อดีต รมว.คลัง “กรณ์ จาติกวณิช” โพสต์เตือนรัฐบาล ทำโครงการเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้าน โดยขยายเพดานหนี้ กู้ยืมเงิน หรือให้รัฐวิสาหกิจมาดำเนินการก่อน เป็นการใช้เงินนอกงบประมาณ ระบุรัฐบาลมีหน้าที่ประเมินคนามเสี่ยง แต่หากเกิดความผิดพลาดประชาชนทุกคนต้องรับผิดชอบ

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือ "การแจกเงินดิจิทัล" ของรัฐบาลว่ารัฐบาลเปิดแนวความคิดเพิ่มเพดานการกู้ยืมจากสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อเปิดวงเงินกู้ 450,000 ล้านบาทรองรับโครงการ #แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ประชาชน 56 ล้านคน

โดยที่รัฐกำลังเตรียมเพิ่มเพดานการกู้ตามกฎหมายจากปัจจุบัน 32% ของวงเงินงบประมาณ เป็น 45% 

คำถามที่หลายคนอาจจะมีคือ 


1- ถูกกฎหมายหรือไม่?  


2- ถูกหลักการวินัยทางการคลังหรือไม่? 


3- จะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจโดยรวม?

กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2561 โดยเพดานกำหนดไว้เดิมที่ 30% และในปลายปี 2564 #รัฐบาลประยุทธ์ ก็ปรับเพดานเพิ่มเป็น 35% เพื่อรองรับการประกันรายได้เกษตรกรที่มีการใช้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ 

หลังจากนั้นปลายปี 2565 ก็ได้มีการปรับลดเพดานลง แต่ก็ยังไม่สามารถลดกลับลงไปจุดเดิมได้ วันนี้อยู่ที่ 32%

การเพิ่มเพดานเป็น 45% หมายความว่า รัฐบาลเตรียมที่จะ 'กู้นอกระบบงบประมาณ' เพิ่มอีก 450,000 ล้านบาท การกู้วิธีนี้ไม่ถือเป็นหนี้สาธารณะเพราะรัฐไม่ได้คํ้าประกันโดยตรง (แต่ค้ำทางอ้อม เพราะเป็นการยืมจากธนาคารของรัฐ)

คำตอบเบื้องต้นคืออำนาจรัฐบาลมีจริง เพราะกฎหมายไม่ได้ระบุเพดานตายตัว (ซึ่งต่างกับ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ที่รัดกุมกว่า เพราะระบุเพดานการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณไว้ชัดเจน)

‘กรณ์’ เตือนรัฐบาลประเมินความเสี่ยงขยาย ‘เพดานหนี้’ กู้แจก ‘เงินดิจิทัล’

หลักคิดง่ายๆ ในการประเมินความมั่นคงทางการคลังของทุกประเทศ คือ ‘เงินที่ใช้มาจากไหน’  ซึ่งที่มั่นคงสุดคือเงินมาจาก ‘ลาภลอย’ เช่นการขายทรัพยากรธรรมชาติเช่นก๊าซหรือนํ้ามัน รองลงมาคือรายได้ภาษี แล้วก็รายได้จากการขายทรัพย์สินของรัฐ จากนั้นก็คือการกู้ในระบบงบประมาณ และการกู้จากกฎหมายพิเศษที่ออกโดยรัฐสภา ท้ายๆ คือการกู้ off balance sheet คือนอกระบบงบประมาณ เช่นให้สถาบันการเงินของรัฐออกเงินไปก่อน

จริงๆ แล้วความยืดหยุ่นในการบริหารทางการเงินมีความจำเป็น แต่ความเหมาะสมและกาละเทศะการใช้เงินก็สำคัญเช่นกัน

เราจะบอกว่าการประเมินความเหมาะสมเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลก็ไม่ผิด แต่ถ้าดำเนินการผิดพลาด ผู้ที่ต้องชดใช้คือประชาชนทุกคน