รัฐบาลตั้งงบจ่ายมาตรา 28 งบฯ 67 จากเดิม 8 หมื่นล้าน เป็นประมาณ 1 แสนล้าน
รัฐบาลตั้งงบจ่ายมาตรา 28 ในการทำงานปี 67 จากเดิม 8 หมื่นล้าน เป็นประมาณ 1 แสนล้านบาท เพิ่มช่องทางการคลังรับมาตรการรัฐทั้งดิจิทัลวอลเลตและการพักหนี้ รอคลังสรุปตัวเลขที่แน่นอนหลังวันที่ 6 ต.ค.นี้
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่าเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลในการทำโครงการเศรษฐกิจต่างๆ ที่มีความต้องการในการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นรวมถึงต้องใช้เงินตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจ่ายคืนให้กับหน่วยงานที่รัฐบาลขอกู้เงินมาใช้ในโครงการต่างๆก่อนหน้านี้
สำนักงบประมาณได้มีการหารือกับกระทรวงการคลังว่าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่หน่วยงานต่างๆอยู่ระหว่างการจัดทำคำขอส่งมายังสำนักงบประมาณภายในวันที่ 6 ต.ค. 2566 ซึ่งกระทรวงการคลังจะจัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายหนี้คืนตามาตรา 28 เพิ่มขึ้น จากคำของบประมาณเดิมที่ตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ประมาณ 8 หมื่นล้าน โดยจะเพิ่มขึ้นให้ไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท
โดยวงเงินที่จะมาจ่ายหนี้เพิ่มขึ้นมาจากกรอบวงเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2567 ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะนำมาตั้งเป็นวงเงินในการใช้หนี้ตามมาตรา 28 ที่จะเพิ่มขึ้น
ผ.อ.สำนักงบประมาณกล่าวต่อว่าการจ่ายหนี้มากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีภารกิจมากขึ้น และมีรายจ่ายที่ต้องใช้มากขึ้น จึงต้องมีการตั้งงบประมาณไปจ่ายเพิ่มเติม ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2566 รัฐบาลเคยมีการตั้งงบประมาณจ่ายหนี้ในส่วนนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาทเศษ แล้วลดลงมาในการจัดทำงบประมาณปี 2567 รอบแรกโดยจัดวงเงินที่จะจ่ายคืนประมาณ 8 หมื่นล้านบาท แต่ล่าสุดในการจัดทำงบประมาณในปี 2567 จะจัดเพิ่มให้ไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท
“การเพิ่มการใช้หนี้เพิ่ม ก็จะทำให้รัฐบาลมีรูมในการใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนการขยายเพดานหนี้ต้องแล้วแต่นายกฯว่าจะเอาอย่างไร แต่การเพิ่มเพดานมาตรา 28 เพิ่มก็ต้องเพิ่มการใช้หนี้ ตามกำลังที่รัฐบาลจะสามารถจ่ายได้” นายเฉลิมพลกล่าว
เมื่อถามเรื่องสัดส่วนการกู้เงินทั้งหมดชดเชยขาดดุลรัฐบาลยังกู้ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยการขาดดุลงบประมาณในปี 2566 ที่ขาดดุลงบประมาณ 6.93 แสนล้านบาท
ซึ่งถือว่าน้อยกว่าปีงบประมาณ 2566 ที่ตั้งงบประมาณขาดดุลไว้ 6.95 แสนล้านบาท ถือว่าขาดดุลลดลงประมาณ 2 พันล้านบาท