เตือนเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยง ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ ไม่รองรับวิกฤติ

เตือนเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยง ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ ไม่รองรับวิกฤติ

เปิดแผนการคลังระยะปานกลางทำเศรษฐกิจไทยเสี่ยง ขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพีเกิน 3% กู้ชดเชยขาดดุลเพิ่ม พื้นที่การคลังลด หนี้สาธารณะพุ่งแตะ 64% สศช.ส่งความเห็นเตือนหนี้สูงกระทบเชื่อมั่น ไม่พอรับวิกฤติขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น ‘TDRI’ชี้ภูมิคุ้มกันรรองรับวิกฤติไทยอ่อนแอลง

ภายหลังการทำงานของรัฐบาลเศรษฐาภายใต้การนำของ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ได้เริ่มมีการเดินหน้าจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 โดยเริ่มจากการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทบทวนกรอบการคลังระยะปานกลาง 2567 – 2570 โดยมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดหลายส่วนจากเดิม เพื่อเพิ่มรายวงเงินการใช้จ่ายให้กับภาครัฐ เช่น ในปี 2567 ได้เพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณจากเดิมประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ขณะที่หนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปรับเพิ่มจากระดับ 61% เป็นระดับ 64% ซึ่งเป็นระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีตลอดแผนการคลังระยะปานกลางที่มีการประมาณการว่าตัวเลขทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าวตลอดระยะเวลา 4 ปีของแผน เนื่องจากแม้ตัวเลขการจัดเก็บรายได้ภาครัฐจะเพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายภาครัฐและการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ขาดดุลการคลังเพิ่มเกิน 3%จีดีพี ยากทำงบประมาณสมดุล

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าโครงสร้างของกรอบการคลังระยะปานกลางฉบับปรับปรุงล่าสุดที่ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วนั้นมีตัวเลขสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปการขาดดุลการคลังต่อจีดีพีซึ่งเคยกำหนดกรอบในส่วนนี้ไว้ในเป้าหมายการคลังระยะปานกลางที่จัดทำล่าสุดในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ที่เคยตั้งเป้าให้การขาดดุลการคลังต่อจีดีพีไม่เกิน 3% เพื่อให้การคลังระยะปานกลางของประเทศมุ่งเข้าสู่การทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งในเรื่องนี้ ครม.ของรัฐบาลที่ผ่านมาได้เห็นชอบและกำหนดไว้ตามความเห็นชอบคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ และเคยกำหนดให้ในปีงบประมาณ2567 ขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพีลดลงเหลือ 3% จากนั้นจะค่อยๆลดลง

เตือนเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยง ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ ไม่รองรับวิกฤติ

อย่างไรก็ตามในกรอบการคลังระยะปานกลางฉบับทบทวนที่เพิ่งทำในรัฐบาลนี้ได้กำหนดตัวเลขการขาดดุลการคลังต่อจีดีพีใหม่ในสัดส่วนที่เกิน3% ในทุกปีงบประมาณตลอดแผน ได้แก่

  • ปีงบประมาณ 2567 ขาดดุลงบประมาณ 6.93 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนขาดดุลการคลัง 3.63% ต่อจีดีพี
  • ปีงบประมาณ 2568 ขาดดุลงบประมาณ 6.92 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลการคลัง 3.43% ต่อจีดีพี
  • ปีงบประมาณ 2569 ขาดดุลงบประมาณ 7.21 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลการคลัง 3.40% ต่อจีดีพี
  • และปีงบประมาณ 2570 ขาดดุลงบประมาณ 7.51 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนขาดดุลการคลัง 3.63% ต่อจีดีพี คิดเป็นการขาดดุลการคลังต่อจีดีเฉลี่ยตลอดแผนการคลังระยะปานกลางที่ 3.46% ของจีดีพีสูงกว่าการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางฉบับเดิมที่การขาดดุลการคลังเฉลี่ยอยู่ที่ 2.86% ต่อจีดีพีเท่านั้น

หนี้สาธารณะเฉลี่ย 64% ต่อจีดีพีทุกปีงบประมาณ  

ขณะที่ประมาณการหนี้สาธารณะต่อจีดีพีระหว่างปี 2567 – 2570 ดังนี้

  • ปี 2567 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 12.08 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64% ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ซึ่งหนี้สาธารณะอยู่ที่ 11.25 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 62.97% ต่อจีดีพี  
  • ปี 2568 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 12.89 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.65% ต่อจีดีพี
  • ปี 2569 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 13.65 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.93% ต่อจีดีพี
  • และ ปี 2570 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 14.36 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.81% ต่อจีดีพี

โดยเพดานหนี้สาธารณะของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 70% ของจีดีพี

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยด้วยว่าเกี่ยวกับการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นในการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง ซึ่งกระทบต่อการทำแผนงบประมาณสมดุลในระยะต่อไป รวมทั้งอาจกระทบกับมุมมองทางเศรษฐกิจที่หน่วยงานจัดอันดับเรตติ้งจะประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปเนื่องจากมองว่าประเทศไทยมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้และภาระการคลังในระยะยาว

"สภาพัฒน์" หวั่นหนี้สูงกระทบเรตติ้งประเทศ-เชื่อมั่นลงทุน

แหล่งข่าวระบุด้วยว่าสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ส่งหนังสือถึงสำนักเลขาธิการ ครม.เพื่อประกอบความเห็นการเสนอ เรื่อง แผนการคลังระยะปานกลาง 2567 – 2570 ฉบับทบทวน ของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. โดย สศช.มีข้อสังเกตว่า แผนการคลัง ระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ ฉบับทบทวน ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้ประมาณการการขาดดุลการคลังเฉลี่ย  3.46% จีดีพีเพิ่มขึ้น

จากเฉลี่ย  2.86% ของจีดีพี ในแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567  - 2570) ฉบับก่อนหน้า

ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองและความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่มีต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย ในขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 64.6% ของจีดีพีเทียบกับเฉลี่ย 61.52% ของจีดีพี ในแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับก่อนหน้า ซึ่งทำให้พื้นที่การคลังลดลงและอาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นจากภายปัจจัยภายนอก

“โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนในเกณฑ์สูง ดังนั้น กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความสำคัญกับการลดการขาดคุลงบประมาณให้อยู่ในระดับต่ำกว่าในแผนการคลังระยะปานกลางฉบับทบทวน รวมทั้งแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการเพิ่มรายได้และประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ ตลอดจนจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดแรงกดดันด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังที่เพียงพอต่อการรองรับความสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก”

 "ทีดีอาร์ไอ" ห่วงภูมิคุ้มกันการคลังลดหลังหนี้พุ่ง

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าการที่รัฐบาลปรับกรอบการคลังระยะปานกลางให้มีตัวเลขขาดดุลงบประมาณเกิน 3% ต่อจีดีพีจะกระทบกับภาพการคลังของประเทศระยะยาว แม้ว่าปัจจุบันการใช้งบประมาณขาดดุลที่เกิดขึ้นประมาณ 6-7 แสนล้านบาทต่อปีซึ่งรัฐบาลจะต้องกู้ปิดปีงบประมาณ จะไม่ทำให้สถานะทางการคลังเพิ่มสูงขึ้น คือ ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีน่าจะทรงๆ ตัวอยู่ที่ประมาณ  62-64% ของจีดีพี

แต่ภาพระยะกลางถึงยาวการคลังของประเทศจะน่ากังวลเพราะว่า ระดับหนี้สาธารณะพุ่ง สูงจากเดิมมากอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยก่อนวิกฤติโควิด-19 จากเดิมอยู่ที่หนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 40% กลางๆ หมายความว่าจุดเด่นทางด้านการคลังของไทยในระดับโลกจะหมดไป

นอกจากนี้ความเสี่ยงต่อการรับมือวิกฤติการณ์ในอนาคตที่เมื่อเกิดวิกฤติรัฐบาลต้องกู้ยืมเงินมาช่วยประคองเศรษฐกิจค่อนข้างสูงหากหนี้ของประเทศอยู่ในระดับสูงจะทำให้กู้มาได้น้อยลง หรือต้องเสียดอกเบี้ยแพงเป็นต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นสรุปได้ว่าเกราะคุ้มกันวิกฤติในตอนนี้ไทยเราอ่อนแอลงกว่าเดิมมาก

เตือนเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยง ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ ไม่รองรับวิกฤติ

“เศรษฐกิจของประเทศไทยจะถูกมองว่าเสี่ยงมากขึ้น และหากรัฐบาลบริหารงานไม่ดีอาจจะถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนทางการกู้ยืมเงินของประเทศและของภาคเอกชนมากขึ้น”ดร.นณริฏ กล่าว