รัฐบาลไทยควรจะยิง "บาซูก้า" หรือไม่ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนได้รับเกียรติเป็นอย่างสูง จากสภาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมและ บ. Spacebar ให้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในงาน Money Forum "เงินดิจิทัล 10,000 บาท กับ 5 คำถามที่ต้องเคลียร์"

โดยประเด็นที่ผู้เขียนจะเสวนาหลัก จะเป็นประเด็นสำคัญ 3 คำถามหลัก คือ (1) ควรทำหรือไม่ (2) เงินมาจากไหน และ (3) เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร จึงขอมาเล่าให้ฟัง ดังนี้

ในส่วนของผู้เขียนนั้น แม้ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตั้งแต่ที่ทางพรรคเพื่อไทยหาเสียงมา เพราะใช้เงินจำนวนมาก แต่ให้ผลกับเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย แต่ในภาพใหญ่ มองว่าจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทยเนื่องจากเหตุผล 3 ประการ

ประการที่หนึ่ง เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยในปัจจุบัน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของประเทศขนาดใหญ่ชะลอต่อเนื่อง โดยในสหรัฐ กิจกรรมภาคบริการต่ำสุดในรอบ 8 เดือน

ขณะที่ในฝั่งยุโรป เศรษฐกิจขนาดใหญ่อันได้แก่ ฝรั่งเศสและเยอรมนี กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ในฝั่งของจีน แม้ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงสั้นจะดูฟื้นขึ้นได้บ้าง แต่ในภาพใหญ่กำลังจะซึมยาวนานมากขึ้น 

ในฝั่งสหรัฐเอง กำลังเผชิญกับ 4 จุดอ่อนเศรษฐกิจ ที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมาก และทำให้ Momentum เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า คือ

(1) ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ขณะที่ดอกเบี้ยและสภาพคล่องเข้มงวดขึ้น จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดในรอบหลายสิบปี

(2) สหภาพผู้ผลิตรถยนต์ United Auto Workers (UAW) ที่มีจำนวนสมาชิก 1.5 แสนคนนัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้าง 40%

รัฐบาลไทยควรจะยิง \"บาซูก้า\" หรือไม่ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

(3) ความเสี่ยงสภาคองเกรสสหรัฐไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว (Continuing resolution: CR) ก่อนสิ้นเดือน ก.ย. ทำให้เกิดภาวะ Government Shutdown และ

(4) การยกเลิกการผ่อนผันการจ่ายค่างวดหนี้เพื่อการศึกษา ที่ชาวสหรัฐกว่า 46 ล้านคน ต้องกลับมาจ่ายหลังจากรัฐบาลให้หยุดชั่วคราวในช่วง Covid (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเงินโดยเฉลี่ยกว่า 10% ของรายได้ชาวอเมริกัน)

 

ทั้ง 4 ปัจจัยเสี่ยง จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ และจะเป็น Momentum ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า ทำให้การส่งออกและภาคการผลิตของไทยแย่ต่อ 

ประการที่สอง เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก แย่กว่าที่ทุกฝ่ายคาด โดยขยายตัวเพียง 1.8% ผลจาก

(1) รัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการ ทำให้การเบิกจ่ายภาครัฐลดลง และทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง

(2) การส่งออกสินค้าที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกบริการ (ท่องเที่ยว) ชะลอลง เพราะแม้นักท่องเที่ยวเข้ามา แต่การใช้จ่ายต่ำกว่าในอดีต

(3) สินค้าคงคลังที่หดตัว ผลจากภาคการผลิตหดตัวมากกว่าภาคการใช้จ่าย 

รัฐบาลไทยควรจะยิง \"บาซูก้า\" หรือไม่ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ประการที่สาม ผู้เขียนมองว่า มาตรการของรัฐบาลจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยมาตรการสำคัญ เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล การขึ้นค่าแรง การขึ้นเงินเดือนของผู้จบปริญญาตรี การพักหนี้และดอกเบี้ยเกษตรกร และการลดราคาพลังงานทันที

จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นจากกรณีฐานประมาณ 1% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าขยายตัวได้ประมาณ 4.1% จากเดิมที่ผู้เขียนมองว่าจะขยายตัวประมาณ 3.0% 

ในส่วนคำถามที่สอง เงินมาจากไหนนั้น ผู้เขียนมองว่า ในชั้นต้น รัฐบาลจะต้องใช้เงินนอกงบประมาณ โดยอาจยืมเงินของสถาบันการเงินของรัฐมาใช้ไปก่อน โดยที่รัฐบาลจะตั้งงบฯ ชดเชยคืนให้ในภายหลัง  

โดยจะต้องขยายกรอบวงเงินเพดานการชดเชยค่าใช้จ่าย จาก 32% เป็น 45% ตาม ม.28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และเมื่อระยะเวลาผ่านไป (อาจเป็นปีงบประมาณ 2568) อาจจะต้องตั้งงบฯ คืน ธนาคารของรัฐในภายหลัง

ในส่วนของประเด็นหนี้สาธารณะนั้น เบื้องต้นอาจไม่เป็นปัญหา เนื่องจาก (1) ในชั้นต้น ใช้เงินของ ธ. ของรัฐก่อน (2) ในระยะต่อไป รายได้ของภาครัฐอาจทดแทนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นได้ (โดยหนี้สาธารณะ จะเพิ่ม 3-4% ขณะที่ GDP จะเพิ่มประมาณ 7-8%) 

แต่มาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิด 3 ความเสี่ยง ประเด็นความเสี่ยงในช่วงใกล้ คือ ทำให้ประชาชนและนักลงทุนเชื่อมั่นในมาตรการของรัฐในการหารายได้ ซึ่งในปัจจุบัน การที่รัฐบาลยังไม่ชัดเจนในแหล่งที่มาของเงินทุน

รวมทั้งประเด็นที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นได้นั้น แทนที่นักลงทุนและประชาชนจะหันไปโฟกัสในประเด็นผลของมาตรการต่อเศรษฐกิจ กลายเป็นหันไปโฟกัสในประเด็นที่มาของแหล่งเงินทุน ทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลพุ่งขึ้นเป็น 3.2% จากประมาณช่วง 2.8% ในช่วงก่อนหน้า 

ซึ่งเป็นภาพเดียวกับรัฐบาลอังกฤษของนายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสต์ ที่ประกาศแผนการลดภาษีขนานใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่มีรายละเอียด ทำให้ตลาดการเงินไม่เชื่อมั่นว่าจะสามารถหารายได้มาชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ ผลตอบแทนพันธบัตรจึงพุ่งขึ้นรุนแรง และกระทบต่อกองทุนบำเหน็จบำนาญจนเกือบล้มละลาย

ประเด็นความเสี่ยงในช่วงต่อไป คือ เงินเฟ้อจะพุ่งขึ้น และทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่เงินบาทจะผันผวนมาก

โดยเงินเฟ้อของไทยในปีหน้า จะเพิ่มกว่าปีนี้อยู่แล้ว ผลจาก (1) ฐานปีนี้ที่ต่ำมาก (2) ภาวะ El Nino (3) ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ผลจากการที่กลุ่ม OPEC+ ลดกำลังการผลิตน้ำมัน 

รัฐบาลไทยควรจะยิง \"บาซูก้า\" หรือไม่ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เมื่อผนวนกับมาตรการเงินดิจิทัล เงินเฟ้อในปีหน้าก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นจากความต้องการซื้อของ แต่ของผลิตไม่เพียงพอ ทำให้ราคาแพงขึ้น ซึ่งจะทำให้ ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยในช่วงต่อไป ซึ่งจะสวนกับประเทศอื่น ๆ ในโลกที่ลดดอกเบี้ย ทำให้บาทแข็ง 

แต่ในทางกลับกัน การที่เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นในปีหน้า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาลง จะทำให้การส่งออกไทยแย่ แต่การนำเข้าสูง ทำให้ไทยขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นแรงที่จะทำให้บาทอ่อน

ดังนั้น เงินบาทจะผันผวนมากในปีหน้า ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทางการและนักธุรกิจ-นักลงทุนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 

ความเสี่ยงสุดท้าย ได้แก่ประเด็นในเชิงกฎหมาย เพราะมาตรการนี้เป็นมาตรการใหม่ จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในประเด็นวินัยการคลัง กฎหมายของสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึง พ.ร.บ. เงินตราและ พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน 

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากเตือนว่า แม้การกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ดังเช่นบาซูก้าจำเป็น ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต แต่ต้องระลึกไว้เสมอว่า เรากำลังนำเงินของลูกหลานเราในอนาคตมาใช้อีกแล้ว ดังนั้น จึงต้องรอบคอบ ระมัดระวัง เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของลูกหลานมากที่สุด ไม่ก่อให้เกิดปัญหา เป็นตราบาปให้ลูกหลานในภายหลัง.