ครม.เคาะพักหนี้เกษตรกร 3 ปี เริ่ม 1 ต.ค.
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการพักการชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย 3 ปี โดยรัฐบาลจะใช้งบประมาณเพื่ออุดหนุนโครงการนี้ กว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ระบุ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการพักการชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย 3 ปี โดยรัฐบาลจะใช้งบประมาณเพื่ออุดหนุนโครงการนี้ กว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป โดยคุณสมบัติของเกษตรกร ที่เป็นลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ที่สามารถเข้าโครงการพักการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย จะต้องมีวงเงินมูลหนี้ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 3 แสนบาท ณ วันที่ 30 ก.ย.นี้
เกษตรกรรายย่อย ที่อยู่ในเกณฑ์สามารถเข้าโครงการพักการชำระหนี้ มีทั้งหมด 2.69 ล้านราย คิดเป็น 64 % ของลูกหนี้ทั้งหมดของ ธ.ก.ส.และ คิดเป็นมูลหนี้รวมกันราว 3 แสนล้านบาท
โครงการพักการชำระหนี้ ซึ่งมีระยะเวลา 3 ปี แต่ ครม.จะอนุมัติงบประมาณการอุดหนุนภาระดอกเบี้ยเป็นรายปี ปีละประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยในปีแรก ครม.จะอนุมัติงบประมาณสำหรับโครงการนี้ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยเกษตรกรจะต้องเข้ามายื่นความจำนงที่สาขาของ ธ.ก.ส.
การพักการชำระหนี้ในครั้งนี้ จะพักการชำระหนี้ทั้งลูกหนี้ที่เป็นลูกหนี้ดี ที่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติและลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล โดยมีลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล อยู่ในเกณฑ์ได้รับการพักการชำระหนี้ 6 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 3.6 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เป็นลูกหนี้ เอ็นพีแอล และสามารถแก้ไขจนกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ รัฐบาลจะช่วยรับภาระดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นเวลา 3 เดือน นอกจากนั้นสำหรับลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล และเข้าโครงการพักชำระหนี้แล้วสามารถชำระหนี้ได้ เงินที่นำมาชำระ จะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมดให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ 100%
นอกจากนี้ การพักการชำระหนี้ในครั้งนี้ จะแตกต่างจากในอดีต คือ สามารถให้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ สามารถขอกู้เพิ่มเติมได้ไม่เกินรายละ 1 แสนบาท เพื่อนำไปประกอบอาชีพ เพื่อให้เกษตรกร เมื่อพ้นระยะเวลาการพักการชำระหนี้แล้วสามารถกลับมาแข็งแกร่งมากขึ้น
รัฐบาลได้นำความเห็นของแบงก์ชาติ ในเรื่องโครงการพักการชำระหนี้ ที่แบงก์ชาติไม่ต้องการให้โครงการนี้เป็นโครงการผูกพันในระยะยาว ดังนั้น รัฐบาลจึงกำหนดโครงการนี้ไว้เพียง 3 ปี และแบงก์ชาติไม่อยากเห็นว่าเป็นการให้แบบเหวี่ยงแห ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้เกษตรกร จะต้องเลือกว่าจะเข้าโครงการนี้ด้วยตัวเอง
ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ฉัตรชัย ศิริไล ระบุ สำหรับลูกหนี้ที่ไม่ประสงค์เข้าโครงการพักการชำระหนี้ ซึ่งมีเกือบ 40 % ของลูกหนี้ทั้งหมดของธนาคารนั้น ธนาคารก็จะมีมาตรการสนับสนุน เพื่อสร้างวินัยให้กับคนในกลุ่มนี้ เช่น การทำโครงการชำระหนี้ดี มีโชค และรวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อเป็น Incentive ให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อช่วยภาระหนี้เกษตรกร จะทำให้หนี้ NPL ของ ธ.ก.ส. จาก 7.8% มูลหนี้ 3.6 หมื่นล้านบาท ลดเหลือ 5.5% ในสิ้นปีบัญชี หรือสิ้นเดือนมีนาคม 2567
สำหรับรายละเอียดมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล จำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรและบุคคลตามข้อบังคับ ธ.ก.ส. (ฉบับที่ 44 และ 45) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและหรือเป็นหนี้คงค้างชำระ จำนวน 2.698 ล้านราย รวมต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ก.ย.2566)
2.ระยะเวลา แบ่งเป็นระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566-30 ก.ย.2567 (1 ปี) จะให้เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ต้องการรับสิทธิ์พักชำระหนี้สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566-31 ม.ค.2567 งบประมาณรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่เข้าร่วมมาตรการในอัตรา 4.5% ต่อปี
สำหรับมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรรอบนี้ จะต่างจาก 13 ครั้งที่ผ่านมา โดยไม่ใช่แค่พักหนี้ แต่จะมีการเข้าไปช่วยฟื้นฟูเกษตรกรด้วย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้เกษตรกร เมื่อออกจากโครงการไปแล้ว โดยเกษตรกรที่ต้องการพักชำระหนี้ จะต้องติดต่อที่ ธ.ก.ส.เพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ว่าจะเข้าโครงการในรูปแบบใด
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาเห็นชอบการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.งบประมาณ 1,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ และสมัครใจเข้ารับการพัฒนาศักยภาพ โดยการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ
'จุรินทร์' ชี้พักหนี้แก้ปัญหาแค่ระยะสั้น
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคฯ กล่าวภายหลังที่คณะรัฐมนตรี มีมติพักหนี้เกษตรกรว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องทำ และไม่ทำไม่ได้ เนื่องจากได้หาเสียงไว้ แต่ตนมองว่า การพักหนี้เป็นเหมือนยาแดง แต่สิ่งที่สังคมต้องการ คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินระยะยาวแบบเบ็ดเสร็จ เพราะการพักหนี้เกษตรกร พักได้ 3 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีข้อเท็จจริงจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ที่เคยศึกษาว่า ส่วนใหญ่การพักหนี้ ที่เคยทำมาหลายครั้ง จะทำให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการเป็นหนี้เพิ่มถึงร้อยละ 70 ดังนั้น รัฐบาลต้องตระหนัก และเตรียมการแก้ไขปัญหาไว้ล่วงหน้า รวมถึงเตรียมเงินงบประมาณทั้งหมดในระยะยาวด้วย เพราะเป็นการนำเอาเงินของคนทั้งประเทศ มาใช้ในการชดเชยให้กับสถาบันการเงินจากการพักต้นพักดอก